คลอดแล้วกี่วัน น้ำนมจึงจะมา

ตามธรรมชาติ กระบวนการผลิตน้ำนมของร่างกายแม่ แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ

ช่วงแรก ตอนตั้งครรภ์ได้สัก 16 - 22 สัปดาห์ ร่างกายจะเริ่มผลิตคอลอสตรัม หรือหัวน้ำนม แต่ผลิตในปริมาณเพียงน้อยนิด ช่วงนี้เรียกว่า Lactogenesis I (แลคโตเจเนซิส 1)

ช่วงที่สอง หลังคลอดได้ 30 - 40 ชม. ฮอร์โมนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะเริ่มทำงาน กระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมในปริมาณที่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่คุณแม่ทั้งหลายมักเริ่มรู้สึกว่า นมมาแล้ว หลังจากที่คลอดได้ประมาณ 50 - 73 ชม. หรือ 2 - 3 วันหลังคลอด ช่วงที่สองนี้เรียกว่า Lactogenesis II (แลคโตเจเนซิส 2)

น้ำนมแม่ที่ผลิตจากการทำงานของฮอร์โมนทั้งสองช่วงแรกนี้ ไม่ว่าแม่จะให้ลูกดูดนมหรือไม่ก็ตาม ร่างกายก็จะทำการผลิตน้ำนมโดยธรรมชาติ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงที่ 3 คือ หลังจากคลอดแล้ว 3 วันขึ้นไป... Lactogenesis III (แลคโตเจเนซิส 3) ถ้าไม่ให้ลูกดูด น้ำนมก็ไม่มี

ช่วงที่สาม ถือเป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะการผลิตน้ำนมของคุณแม่ไม่ได้ถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนล้วนๆ อีกต่อไป แต่น้ำนมแม่จะผลิตอย่างต่อเนื่องก็ต่อเมื่อมีการนำน้ำนมออกจากร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะด้วยการดูดของลูก การบีบด้วยมือ หรือการปั๊มด้วยเครื่อง

 

ดังนั้น ภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จ จะง่ายดาย หรือยากลำบาก ถ้าช่วงนี้คุณแม่สามารถนำน้ำนมออกจากร่างกายได้มากเท่าใด ก็จะยิ่งช่วยให้ผลิตน้ำนมมากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกัน ถ้าให้นมผสมในช่วงสัปดาห์แรกนี้ จะเป็นการแทรกแซงกลไกธรรมชาติ และซ้ำเติมให้การผลิตน้ำนมของแม่ช้าลง

 

คุณแม่จำนวนมากเข้าใจผิด หรือถูกทำให้เข้าใจว่า น้ำนมน้อย ต้องเสริมนมผสมให้ลูกก่อน รอให้น้ำนมมาก่อน แล้วค่อยให้นมแม่ การทำเช่นนั้นยิ่งทำให้น้ำนมแม่มาช้ากว่าเดิม แต่วิธีที่จะเร่งให้น้ำนมมาเร็วๆ ได้ คือ ต้องพยายามนำน้ำนมออกจากร่างกายให้มากที่สุด ด้วยการให้ลูกดูดอย่างถูกวิธีบ่อยๆ ซึ่งในช่วง 2 - 3 วันแรกนั้น ลูกจะหลับเป็นส่วนใหญ่ และดูดยังไม่ค่อยเก่ง แม่ก็อ่อนเพลียจากการคลอด การใช้มือบีบหรือเครื่องปั๊มคุณภาพดี จะช่วยให้สามารถนำน้ำนมออกมาจากร่างกายได้มากขึ้นกว่าการรอให้ลูกดูดอย่างเดียว และจะช่วยให้ผลิตน้ำนมเร็วและมากขึ้น

 

การบีบหรือปั๊มนมในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ มีข้อควรระวัง คือ ร่างกายที่เพิ่งผ่านการคลอดมามักจะอ่อนเพลียและอ่อนไหว การบีบหรือปั๊มนม หรือแม้แต่ให้ลูกดูด จะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บมากๆ ได้ จนทำให้แม่หลายคนรู้สึกว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นี้ช่างเจ็บปวด และทรมานเสียจริง แต่ขอให้เข้าใจว่า ความรู้สึกเจ็บปวดทรมานแบบนั้นจะคงอยู่ไม่นาน และจะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป หลังจากนั้นไม่ว่าลูกจะดูด ใช้มือบีบ หรือใช้เครื่องปั๊ม ก็จะไม่เจ็บอีกต่อไป ทั้งนี้ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ลูกดูดถูกวิธี บีบด้วยมืออย่างถูกวิธี หรือใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดีอย่างถูกวิธีด้วย

Visitors: 96,419