Skin to skin contact สัมผัสรัก

ธรรมชาติของมนุษย์ การสื่อสารและส่งผ่านความรักความผูกพันไปสู่กันนั้น ไม่ได้มาจากการสื่อสารด้วยภาษาพูดเพียงอย่างเดียว แต่ภาษากายหรือ “การสัมผัส”  ถือเป็นการสื่อสารที่อาจจะ มีความหมายลึกซึ้งยิ่งกว่าเสียอีก เพราะสามารถบอกถึงความรัก ความห่วงใย หรือแม้แต่ความหวัง ความปรารถนาดีให้รับรู้ถึงกันได้        

 

“สัมผัสรัก” ที่แม่มอบให้แก่ลูกตั้งแต่แรกเกิด จึงมีความสำคัญมาก และสามารถสื่อความหมายยิ่งใหญ่มากมายจากแม่ไปสู่ลูกโดยไม่ต้องเอ่ยเป็นคำพูดแม้แต่คำเดียว  

 

นี่ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกอย่างเดียว แต่มีผลการศึกษาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า ช่วงเวลาทันทีหลังจากที่ลูกคลอดจนถึงช่วงหลังจากคลอดแล้ว แม่กับลูกควรจะได้อยู่ด้วยกัน แม่ควร มีโอกาสกอดกระชับลูกให้ผิวของแม่แนบสัมผัสกับผิวของลูกโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องห่อลูกไว้ในผ้า ทารกที่ได้สัมผัสแม่ในลักษณะนี้จะมีความสุขมากกว่า มีอุณหภูมิร่างกายที่คงที่และอยู่ในระดับปกติมากกว่า อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจก็สม่ำเสมอและเป็นปกติมากกว่า แล้วยังมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าอีกด้วย

 

ยิ่งไปกว่านั้น การให้แม่ได้อุ้มลูกในลักษณะเนื้อแนบเนื้อทันทีคลอด จะช่วยให้ลูกคุ้นเคยกับแบคทีเรียชนิดเดียวกับที่แม่มีอยู่ในร่างกาย และเมื่อลูกได้รับน้ำนมแม่ ก็จะมีส่วนสำคัญในการป้องกันโรคภูมิแพ้

 

สัมผัสรักแบบนี้ยังสามารถช่วยให้ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือไม่แข็งแรง เพราะการให้ผิวหนังของแม่สัมผัสกับลูกโดยตรง ด้วยการอุ้มในท่า Kangaroo Care จะมีส่วนช่วยในการดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนด แม้แต่ทารกที่ต้องได้รับการให้ออกซิเจน วิธีนี้ช่วยให้ทารกจำเป็นต้องได้รับออกซิเจนน้อยลง และทำให้กลไกอื่นๆ ในร่างกายคงทีมากขึ้น

 

ถ้าลูกได้รับการกอดสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อกับแม่ทันทีหลังคลอดเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง จะมีผลดีกับลูก คือ

  • มีแนวโน้มที่จะสามารถดูดนมแม่ได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือใดๆ
  • มีแนวโน้มจะดูดนมแม่มากขึ้น
  • มีแนวโน้มจะดูดนมได้ดีกว่า
  • มีอุณหภูมิผิวหนังที่คงที่และเป็นปกติมากกว่า
  • มีอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตที่คงที่และเป็นปกติมากกว่า
  • มีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงกว่า
  • มีแนวโน้มที่จะร้องไห้น้อยกว่า
  • มีแนวโน้มที่จะดูดนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลานานกว่า

 

ดังนั้น การให้ลูกได้อยู่กับแม่ทันทีหลังคลอด มีความสำคัญมากกว่ากับขั้นตอนปฎิบัติทั่วไปอื่นๆ ของโรงพยาบาลเสียอีก เช่น การชั่งน้ำหนัก แต่ควรเช็ดตัวทารกให้แห้งและมอบให้กับแม่ ให้แม่และลูกอยู่ด้วยกันอย่างสงบเพื่อรับรู้ความสุขของการอยู่ร่วมกัน แม้แต่กรณีผ่าตัดคลอด ระหว่างที่แม่กำลังได้รับการเย็บแผล ยกเว้นแต่มีจำเป็นทางการแพทย์ให้ไม่สามารถทำได้เท่านั้น

 

ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักเพียง 1200 กรัม เมื่อได้รับ การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังการคลอด ก็จะมีเมตาบอลิซึ่มและระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ รวมทั้งหายใจได้ดีกว่า ซึ่งวิธีนี้สามารถทำร่วมกับการรักษาอื่นที่จำเป็น เช่น การให้ยาทางเส้นเลือด การให้ออกซิเจน หรือการสอดสายยางเพื่อให้อาหารหรือระบายแก๊สในท้อง ถ้าทารกคลอดก่อนกำหนดไม่ได้มีปัญหาในการหายใจเนื่องจากขาดน้ำหล่อลื่นปอด (Respiratory Distress Syndrome)

 

แม้แต่แม่ที่มีปัญหาลูกปฎิเสธการดูดจากเต้า แม้จะเคยดูดมาแล้ว แต่อยู่ๆ ก็ไม่ยอมดูด หรือผิดพลาดตั้งแต่แรกโดยการให้ดูดขวดและต้องการให้ลูกกลับมาดูดนมแม่ใหม่ สามารถใช้วิธี “สัมผัสรัก” ได้เช่นกัน โดยให้ลูกใส่แต่ผ้าอ้อม แม่ไม่ต้องใส่เสื้อ หรือใส่เฉพาะเสื้อชั้นใน โอบกอดลูกให้มีการสัมผัสผิวเนื้อระหว่างแม่ลูกให้มากที่สุด ทำบ่อยๆ ให้ลูกรู้สึกคุ้นเคย และค่อยๆ ให้ลูกเริ่มดูดนมแม่ใหม่

 

เนื้อหาในบทความนี้อาจจะยังไม่ใช่วิธีปฏิบัติทั่วๆ ไปในการคลอดในปัจจุบันของบ้านเรา แต่อยากให้คุณแม่ทุกท่านได้อ่านไว้เป็นข้อมูล ถ้าบางโรงพยาบาลยินยอมปฏิบัติได้ ก็อยากให้แม่ได้ลองขอดู

 

บทความนี้เรียบเรียงใหม่จากบทความแปลของแม่ต่าย จาก Handout #1a. The importance of skin to skin contact. Revised January 2005 Written by Jack Newman, MD, FRCPC. © 2005

เนื้อหาในบทความนี้ อาจจะยังไม่ใช่วิธีปฏิบัติทั่วๆ ไปที่พวกเราจะได้รับในการคลอดในปัจจุบันของบ้านเรา แต่อยากให้คุณแม่ทุกท่านได้อ่านไว้เป็นข้อมูล เผื่อว่าอาจจะมีบางโรงพยาบาลยินยอมปฏิบัติให้ ถ้าเราลองขอดูค่ะ 

 

มีผลการศึกษาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาทันทีหลังจากที่ทารกคลอดออกมา ตลอดจนถึงช่วงเวลาหลังจากคลอดผ่านพ้นไปแล้ว แม่กับลูกควรจะได้อยู่ด้วยกัน และแม่ควรได้มีโอกาสกอดกระชับลูกให้ผิวของแม่แนบสัมผัสกับผิวของลูกโดยตรง (ทารกอยู่ในลักษณะถอดเสื้อผ้า ไม่ถูกห่ออยู่ในผ้า)  

 

เพราะเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ทารกที่ได้สัมผัสกับแม่ในลักษณะนี้จะมีความสุขมากกว่า มีอุณหภูมิร่างกายที่คงที่และอยู่ในระดับปกติมากกว่า อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจก็สม่ำเสมอและเป็นปกติมากกว่า และยังมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การให้แม่ได้อุ้มลูกในลักษณะเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังจากเกิด จะช่วยให้ทารกคุ้นเคยกับแบคทีเรียชนิดเดียวกับที่แม่มีอยู่ในร่างกาย ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อประกอบกับการที่ทารกได้รับน้ำนมแม่ จะมีส่วนสำคัญในการป้องกันโรคภูมิแพ้ ในขณะที่ถ้าทารกถูกนำเข้าตู้อบ ผิวหนังและภายในร่างกายจะได้รับแบคทีเรียที่แตกต่างออกไปจากที่มีอยู่ในร่างกายของแม่  

 

ทั้งนี้ไม่เฉพาะกับในทารกที่คลอดครบกำหนดและแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทารกที่คลอดก่อนกำหนดด้วย การให้ผิวหนังของแม่สัมผัสกับลูกโดยตรงและการอุ้มทารกในท่า Kangaroo Care มีส่วนช่วยในการดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนดได้เป็นอย่างมาก และทำได้แม้แต่กับทารกที่ต้องได้รับการให้ออกซิเจน โดยจะช่วยให้ทารกจำเป็นต้องได้รับออกซิเจนน้อยลง และทำให้กลไกอื่น ๆ ในร่างกายคงทีมากขึ้นอีกด้วย  

 

ในแง่ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทารกที่ได้รับการกอดสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อกับแม่ทันทีภายหลังการคลอดเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง มีแนวโน้มที่จะสามารถดูดนมแม่ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้น และมีความเป็นไปได้ที่จะดูดนมได้ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่แม่ไม่ได้รับยาใด ๆ เลยในระหว่างการคลอด ทารกที่ดูดนมด้วยท่าที่ถูกต้องจะได้รับน้ำนมได้ง่ายขึ้น และยังช่วยให้แม่เจ็บหัวนมน้อยกว่า   

 

ในกรณีที่แม่มีน้ำนมมากมายเหลือเฟือ ถึงแม้จะดูดด้วยท่าที่ไม่ถูกต้อง ทารกก็จะยังสามารถดูดน้ำนมได้เป็นจำนวนมาก เพียงแต่อาจจะต้องดูดเป็นเวลานานหรือดูดบ่อย ๆ หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง และแม่ก็มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาเช่นท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบได้มากกว่า  

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองถึงสามวันแรกน้ำนมของแม่ไม่ได้มีปริมาณมากมายนัก (แต่ก็เพียงพอสำหรับลูก) การดูดด้วยท่าที่ถูกต้องจะช่วยให้ทารกสามารถดูดเอาน้ำนมที่มีอยู่ออกมาได้ (น้ำนมยังคงมีอยู่ในเต้าถึงแม้ว่าจะปั๊มไม่ออกก็ตาม) ถ้าทารกดูดด้วยท่าที่ไม่ถูกต้อง แม่อาจจะเจ็บหัวนม และทารกที่ดูดน้ำนมได้ไม่ดีก็จะยิ่งดูดนานขึ้นและทำให้แม่เจ็บมากขึ้นไปอีก  

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว การให้แม่ได้กอดลูกโดยให้ผิวหนังสัมผัสกันโดยตรงทันทีหลังการคลอดเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงจะมีผลดีต่อทารกดังนี้  

 

  • ทารกมีแนวโน้มจะดูดนมแม่มากขึ้น
  • ทารกมีแนวโน้มจะดูดนมได้ดีกว่า
  • ทารกมีอุณหภูมิผิวหนังที่คงที่และเป็นปกติมากกว่า
  • ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตที่คงที่และเป็นปกติมากกว่า
  • ทารกมีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงกว่า
  • ทารกมีแนวโน้มที่จะร้องไห้น้อยกว่า
  • ทารกมีแนวโน้มที่จะดูดนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลานานกว่า 

 

ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะไม่ให้ทารกส่วนใหญ่ได้มีโอกาสสัมผัสกับแม่แบบเนื้อแนบเนื้อทันทีเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงภายหลังการคลอด ทั้งนี้ไม่ควรไปให้ความสำคัญที่มากกว่ากับขั้นตอนปฎิบัติทั่วไปอื่น ๆ ของโรงพยาบาล เช่น การชั่งน้ำหนักทารก  

 

ทารกควรได้รับการเช็ดตัวให้แห้งและมอบให้กับแม่ ไม่ควรมีใครพยายามผลักดันให้ทารกทำอะไร ในระหว่างนี้ยังไม่ควรมีใครพยายามช่วยให้ทารกดูดนม ส่วนแม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องพยายามหาทางช่วยลูกด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ก็ไม่ควรจะถูกขัดขวาง ควรปล่อยให้แม่และลูกอยู่ด้วยกันอย่างสงบเพื่อรับรู้ความสุขของการอยู่ร่วมกัน (อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปล่อยให้แม่กับลูกอยู่กันตามลำพัง โดยเฉพาะกรณีที่แม่ได้รับยาระหว่างการคลอด ควรให้ทั้งคู่สมรส พยาบาล พดุงครรภ์ ผู้ดูแล หรือแพทย์อยู่ด้วย เพราะบางครั้งทารกอาจต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ จึงควรจะมีบุคคลที่สามารถให้ความช่วยเหลือดังกล่าวได้อยู่ด้วยเผื่อในกรณีที่จำเป็น) 

 

การหยอดตาและการฉีดวิตามินเคสามารถรอทำภายหลังจากนั้นสองสามชั่วโมงได้  การให้แม่ลูกสัมผัสกันแบบเนื่อแนบเนื้อก็สามารถทำได้ในกรณีของการผ่าตัดคลอด แม้กระทั่งในระหว่างที่แม่กำลังได้รับการเย็บแผล ยกเว้นแต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีเหตุผลทางการแพทย์ให้ไม่สามารถทำได้เท่านั้น  

 

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักเพียง 1200 กรัม (2 ปอนด์ 10 ออนซ์) ก็จะมีเมตาบอลิซึ่มที่คงที่ (รวมไปถึงระดับน้ำตาลในเลือด) และหายใจได้ดีกว่าหากได้รับการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังการคลอด การรักษาใด ๆ ที่จำเป็นยกตัวอย่างเช่น การให้ยาทางเส้นเลือด การให้ออกซิเจน หรือการสอดสายยางเพื่อให้อาหารหรือระบายแก๊สในท้อง ไม่ควรไปขัดขวางไม่ให้แม่กับลูกได้มีโอกาสสัมผัสกัน 

การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อสามารถทำร่วมกับการให้การรักษาอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ทารกแข็งแรงขึ้นได้ แน่นอนว่าในกรณีที่ทารกอ่อนแอมาก การดูแลสุขภาพของทารกย่อมมีความสำคัญมากกว่า แต่ควรให้ทารกคลอดก่อนกำหนดที่ไม่มีปัญหาในการหายใจเนื่องจากขาดน้ำหล่อลื่นปอด (Respiratory Distress Syndrome) ได้สัมผัสกับแม่แบบเนื้อแนบเนื้อทันทีได้ทันทีหลังจากคลอด 

 

ที่จริงแล้วทั้งในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดและครบกำหนด การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้ออาจช่วยลดอัตราการหายใจที่เร็วเกินไปให้กลับเข้าสู่เกณฑ์ปกติได้ แม้แต่ในทารกที่ไม่ยอมดูดนมแม่ระหว่างช่วงหนึ่งถึงสองชั่วโมงแรกหลังการคลอด การให้ได้รับสัมผัสในลักษณะเนื้อแนบเนื้อก็ยังส่งผลดีและมีความสำคัญต่อเด็กในแง่อื่น ๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  

 

ไม่ต้องตื่นตระหนกหากทารกไม่ยอมดูดนมทันทีในช่วงแรก การเร่งให้ทารกดูดนมแทบจะไม่มีความจำเป็นอะไรเลย โดยเฉพาะในเด็กคลอดครบกำหนดที่สุขภาพแข็งแรง ความเชื่อในการเลี้ยงทารกแรกเกิดผิด ๆ ที่อันตรายที่สุดอย่างหนึ่งก็คือความเชื่อที่ว่าทารกควรได้รับอาหารทุกสามชั่วโมง  ทารกควรจะได้รับอาหารเมื่อแสดงอาการให้เห็นว่าพร้อม และการให้ทารกได้อยู่กับแม่จะช่วยให้แม่รู้ได้ว่าเมื่อใดที่ทารกจะพร้อม  

 

ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะพิสูจน์ได้เลยว่าควรป้อนนมทารกทุกสามชั่วโมงหรือตามตารางเวลาใด ๆ ก็ตาม ความเชื่อเช่นนี้เองที่ทำให้ทารกจำนวนมากถูกบังคับให้ดูดนมแม่เมื่อเวลาผ่านไปครบสามชั่วโมง ทารกที่ยังไม่อยากดูดนมอาจขัดขืนสุดฤทธิ์ และถูกบังคับหนักขึ้นไปอีก การพยายามให้ทารกดูดนมแม่ในลักษณะนี้ หลายครั้งที่กลับทำให้ทารกปฏิเสธการดูดนมแม่ไปเลย  

 

หากทารกยังคงยืนกรานปฏิเสธเมื่อถูกบังคับให้ดูดนมและมีอาการหงุดหงิดมากขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนที่ว่าขั้นตอนต่อไปก็คือการให้อาหารอื่นแก่ทารก เห็นได้ชัดเลยว่านี่คือทิศทางที่พวกเรากำลังมุ่งไปนั่นเอง  

 


*** สำหรับแม่ที่มีปัญหาลูกปฎิเสธการดูดจากเต้าแม่ ไม่ว่าจะเคยดูดมาแล้ว  แล้วอยู่ๆ ก็ไม่ยอมดูด หรือผิดพลาดตั้งแต่แรกโดยการให้ดูดขวด และต้องการให้ลูกกลับมาดูดนมแม่ใหม่  สามารถใช้วิธีนี้ได้  ในสถานที่เป็นส่วนตัว ให้ลูกใส่แต่ผ้าอ้อม แม่ไม่ต้องใส่เสื้อ (หรือใส่เฉพาะเสื้อชั้นใน) โดยการโอบกอดลูกให้มีการสัมผัสผิวเนื้อระหว่างแม่ลูกให้มากที่สุด ทำบ่อยๆ ให้ลูกรู้สึกคุ้นเคย และค่อยๆ ให้ลูกเริ่มดูดนมแม่ใหม่*** 

 

แปลจาก Handout #1a. The importance of skin to skin contact 

Revised January 2005 Written by Jack Newman, MD, FRCPC. © 2005  โดย  แม่ต่าย

Visitors: 94,932