คาถาเรียกน้ำนมหลังคลอด

แม่มือใหม่หลายคนสงสัยอาจมีความกังวลว่า จะมีน้ำนมให้ลูกได้ทันทีหลังคลอดเลยไหม? ทำไมแม่บางคนน้ำนมมาเลย แต่บางคนต้องพยายามมากมายกว่าจะมีนม มีวิธีหรือ "คาถาวิเศษ" ที่จะเรียกน้ำนมให้มาได้ดังใจเลยไหม

 

ก่อนจะรู้คำตอบของคำถามเหล่านี้ เราอย่างให้แม่ทำความเข้าใจกับกลไกธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกันเสียก่อนว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นระหว่างแม่กับลูก มีความเกี่ยวข้องกันทั้งระบบประสาทและทางชีววิทยาของทั้งแม่และลูก ทารกแรกเกิดมีกลไกอัตโนมัติที่เป็นสัญชาตญาณช่วยให้สามารถเริ่มดูดนมแม่ ทั้งการคืบเข้าหาเต้า การส่ายหัวเพื่อหาหัวนม การดูด และการกลืน หลังคลอดทารกจะพักในช่วงเวลาสั้นๆในลักษณะตื่นตัว เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ และแสดงสัญชาตญาณของการดูดนมเพื่อเอาชีวิตรอด 

 

แม่มีส่วนช่วยลูกอย่างไร?

นั่นคือ แม่ควรเริ่มให้ลูกดูดนมแม่เร็วที่สุด ถ้าเป็นไปได้ภายใน ½ -1 ชั่วโมงหลังคลอด ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกตื่นตัวดี ไม่ควรรีบเอาทารกไปอาบน้ำ หยอดตา หรือทำกิจกรรมที่ยังไม่จำเป็นรีบด่วน โดยให้วางทารกให้นอนคว่ำบนหน้าอกแม่ หันหน้าเข้าหาหัวนมของแม่ ใช้ผ้าคลุมแม่กับลูกไว้ด้วยกัน ปล่อยให้ทารกคลานเข้าหาเต้าแม่ และเริ่มดูดนมด้วยตนเองเมื่อเขาพร้อม ไม่ควรรบกวนกระบวนการช่วยตนเองของทารก และควรให้เวลาสำหรับการสัมผัสนี้อย่างน้อยประมาณ 1 ชั่วโมง

 

การดูดนมแม่ครั้งแรก ความจริงแล้วถือเป็นการเริ่มทำความคุ้นเคยกับเต้าแม่มากกว่าจะเป็นการดูดเพื่อให้ได้อาหาร และยังเป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าเต้า ระยะแรกนี้ทารกอาจยังไม่ดูดนมแม่ทันที แต่จะแสดงสัญญาณความหิว (feeding cues) ด้วยการยกศีรษะ มองไปรอบๆ แลบลิ้น เอามือเข้าปาก ทำท่าดูด น้ำลายไหล การสัมผัสเนื้อแนบเนื้อระหว่างแม่กับลูก กลิ่นตัวแม่และน้ำนมแม่จะกระตุ้นให้ทารกคืบคลานไปบนอกแม่ (Breast crawl) เพื่อหาเต้านม เริ่มจ้องที่บริเวณสีเข้มของเต้าแม่ไว้เป็นเป้าหมาย ขยับไปที่เต้าแม่ เมื่อไปถึงหัวนมจะอ้าปากกว้างงับหัวนม และดูดนมแม่ได้โดยอัตโนมัต  ทารกต้องอยู่ในท่าที่สามารถจะคลานเข้าหาหัวนมแม่และอมหัวนมแม่ด้วยตนเองได้อย่างสะดวกตามธรรมชาติ (Biological positioning) การที่ทารกอยู่ในท่าที่เหมาะสมและอมหัวนมแม่ได้อย่างถูกต้องจะส่งผลต่อการดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการสร้างน้ำนมได้อย่างเพียงพอ ในระยะต่อมา

 

เริ่มต้นเร็ว ความสำเร็จยิ่งมาก

การนำทารกมาวางที่อกแม่ ทำให้แม่และลูกได้สัมผัสใกล้ชิดกันแบบเนื้อแนบเนื้อ เป็นผลดีต่อการปรับตัวด้านสรีวิทยาของทารก ทั้งอุณหภูมิร่างกาย การหายใจ การเต้นของหัวใจ และระดับน้ำตาลในเลือด แล้วยังช่วยกระตุ้นให้เกิดความรัก ความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ทารกรู้สึกสงบ ลดการร้องกวน และการได้ดูดนมแม่ทันทีก็ทำให้ทารกได้รับคอลอสตรัม (colostrum) หรือน้ำนมเหลือง ซึ่งภูมิคุ้มกัน IgA ช่วยเคลือบลำไส้ของทารก ป้องกันการติดเชี้อ ช่วยกระตุ้นการทำงานร่วมกันของการดูด การกลืน และการหายใจ นอกจากนี้ ยังกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโปรแลกตินในตัวแม่ที่ช่วยในการสร้างน้ำนม และฮอร์โมนออกซิโตซินที่ช่วยในการหลั่งน้ำนม กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว ลดการตกเลือดของแม่หลังคลอด ช่วยขับน้ำคาวปลา และทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว

 

จะเห็นได้ว่า การเริ่มต้นให้นมแม่ได้สำเร็จ การที่แม่จะมีน้ำนมหลังคลอดได้ หรือการนำลูกเข้าเต้าได้ง่าย ไม่ได้อาศัยคาถาวิเศษอะไรเลย แต่เป็นการเข้าใจ และทำตามสัญชาตญาณธรรมชาติของทั้งตัวแม่และลูก ซึ่งความล้มเหลวที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการเริ่มต้นให้ทารกดูดนมช้า และไม่ได้ให้ดูดตามต้องการของทารกนั่นเอง

Visitors: 94,906