7 เหตุผลที่ไม่ควรแยกลูกทันทีหลังคลอด

ทำไมโรงพยาบาลในต่างประเทศที่สนับสนุนการให้นมแม่ จึงไม่รบกวนทารกภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอดด้วยการแยกลูกไปจากแม่ แต่จะให้ลูกอยู่กับแม่ทันทีที่คลอดออกมา เพื่อสร้างสายสัมพันธ์แม่และลูก ให้ลูกมีโอกาสเรียนรู้ที่จะเข้าเต้าและดูดนมแม่ ซึ่งในประเทศไทยก็มีหลายโรงพยาบาลรัฐที่มีโครงการ "สายใยรักปฏิบัติเช่นนี้อยู่ แต่หลายโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ทำเช่นนี้

 

ซึ่ง 7 เหตุผลหลักที่โรงพยาบาลที่สนับสนุนการให้นมแม่ปฏิบัติเช่นนี้ ก็คือ

 

1. เพื่อให้ทารกได้เริ่มต้นการเข้าเต้า

นอกจากช่วยสร้างสายใยสัมพันธ์รักแม่และลูกแล้ว การเข้าเต้าในทันทีแรกคลอดยังช่วยให้แม่คลอดเอารกออกมาได้เร็วขึ้น และลดการสูญเสียเลือดหลังคลอดลงได้

 

วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องช่วยโดยนำทารกไปดูดที่เต้าแม่เลย เพราะทารกที่คลอดออกมาโดยไม่ได้รับยาใดๆ ผ่านทางแม่ เช่น ยาสลบ หรือยาชา  เมื่อถูกนำมาวางบนท้องแม่ก็จะสามารถใช้สัญชาตญาณแรกเกิดคืบคลานไปหาเต้าแม่ และเริ่มดูดเต้าได้อย่างธรรมชาติ ขั้นตอนนี้เรียกว่า Breast crawl เพราะทารกทุกคนมีสัญชาตญาณแรกเกิดเหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ที่สามารถเข้าหาหัวนมแม่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติได้ด้วยตัวเอง


2. เพื่อให้ร่างกายได้ปรับระบบการทำงาน

ทารกที่ได้สัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อกับแม่ภายหลังคลอดทันที และได้อยู่แบบนั้นเป็นชั่วโมง ร่างกายจะสามารถปรับอุณหภูมิและการหายใจได้ดีกว่าทารกที่ไม่ได้รับโอกาสนี้ เพราะทารกแรกคลอดไม่สามารถปรับอุณหภูมิร่างกายได้ดีเท่ากับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เนื่องจากยังไม่มีไขมันสะสม และตลอดเวลา เดือนที่ผ่านมาก็อยู่ในครรภ์ในอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุด

 

การสัมผัสกายแม่โดยไม่ได้มีใครเข้าไปรบกวนเป็นเวลา ชั่วโมงหลังคลอด ยังทำให้ทารกปรับระดับน้ำตาลได้ดี จึงลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ


3. ทำให้การตัดสายสะดือช้าลง

สายสะดือสามารถส่งผ่านออกซิเจนให้กับทารกต่อได้แม้หลังคลอด ทารกที่กำลังปรับการหายใจผ่านทางปอดด้วยตัวเองอยู่ การสัมผัสเนื้อแนบเนื้อกับแม่จะช่วยให้การหายใจเข้าที่ได้ดีโดยที่สายสะดือยังคงอยู่ ยิ่งอยู่นานยิ่งเพิ่มโอกาสการได้รับเซลล์เม็ดเลือดแดง และลดความเสี่ยงการเกิดโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

 

การตัดสายสะดือให้ช้าลงสามารถทำได้ แม้การผ่าคลอดก็ตาม แต่ก็ไม่ทุกกรณี ต้องขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์และสถานการณ์หลังคลอด โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะทำการผ่าคลอดว่า สามารถตัดสายสะดือให้ช้าลงได้หรือไม่

 

4. เสริมสร้างสายใยรักแม่ลูก

การให้โอกาสลูกและแม่สัมผัสกันนานๆ ช่วยให้ทั้งสองได้ทำความรู้จักกัน แม่ที่ได้สัมผัสกับลูกแบบเนื้อแนบเนื้อหลังคลอดจะมีความมั่นใจและสงบใจในการเลี้ยงดูลูกมากกว่า เพราะขณะตั้งครรภ์ ร่างกายแม่ได้สร้างตัวรับสื่อสัญญาณของฮอร์โมนออกซิโทซินเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อลูกคลอดออกมา แม่จะมีความไวต่อฮอร์โมนนี้มาก ซึ่งส่งเสริมสัญชาตญาณความเป็นแม่อย่างเต็มที่ การสัมผัสกอดลูกอย่างใกล้ชิดเป็นการกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนนี้ออกมาในปริมาณสูง


5. ทำให้การให้นมแม่สำเร็จมากขึ้น

ถ้าทารกแรกคลอดได้สัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อกับแม่ตั้งแต่แรกคลอด ทารกจะมีความสามารถในการเข้าเต้าและดูดนมจากเต้าได้ดีกว่าทารกที่ไม่ได้รับโอกาสนี้ ทำให้แม่ไม่ประสบปัญหาการเข้าเต้าที่เจ็บปวดภายหลังและไม่เลิกให้ลูกเข้าเต้าเพราะปัญหาดังกล่าว

 

6. ป้องกันผลเสียที่เกิดจากการแยกลูกและแม่จากกัน

ทารกเกิดมาด้วยความพร้อมที่จะได้อยู่ใกล้ชิดและสัมผัสกับแม่ทันทีที่เกิด ถ้าไม่ได้รับยามากเกินไปจากการดมยาสลบ ทารกจะมีอาการตื่นตัวและจ้องมองหน้าแม่ จำกลิ่นแม่ จำเสียงได้ และจำสัมผัสของแม่ได้ การให้ลูกได้อยู่กับแม่ให้มากที่สุด ถือเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มโอกาสอยู่รอดของทารก เพราะทารกทุกคนเกิดมาพร้อมกับสัญชาตญาณดิบของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ต้องการจะอยู่ในบริเวณใกล้กับที่แม่อยู่ ซึ่งเป็นที่ที่ให้ความอบอุ่น ความปลอดภัย และอาหารแก่ทารก

 

เมื่อทารกถูกแยกออกจากแม่จะร้องไห้จ้า เพื่อดึงดูดความสนใจจากแม่ให้มาดูว่า ตนเองกำลังไม่สบายตัว ไม่สบายใจ ที่โดนดึงตัวออกมาจากการกระตุ้นตอบสนองของแม่ ถ้าหากว่าทารกยังไม่ได้รับการนำกลับไปให้แม่แม้ว่าจะร้องเรียกแล้วก็ตาม จะทำให้เกิดความเครียด ซึม และไม่ตอบสนองใดๆ ซึงเป็นส่วนหนึ่งของสัญชาตญาณการอยู่รอดของสัตว์ที่จะไม่ส่งเสียงดังให้เป็นที่สนใจของสัตว์อื่นที่มาล่าหาเหยื่อ และเป็นการประหยัดพลังงานสะสมในร่างกายไม่ให้สูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์

 

7. สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกโดยวิธีธรรมชาติ

เมื่อทารกคลอดออกมาด้วยวิธีธรรมชาติจะสัมผัสกับแบคทีเรียที่อยู่ในตัวแม่ ซึ่งเป็นการสั่งสอนระบบภูมิคุ้มกันของลูกให้รู้จักว่า แบคทีเรียเหล่านี้เป็นตัวที่ดี หรือไม่ดี ทำให้ร่างกายของลูกเริ่มต้นเรียนรู้การตอบสนองต่อการติดเชื้อต่างๆ ได้โดยทันที

 

ถ้าจำเป็นต้องได้รับการผ่าคลอดด้วยเหตุผลทางการแพทย์ แม่ควรเริ่มให้ลูกเข้าเต้าและสัมผัสตัวแม่แบบเนื้อแนบเนื้อให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสของลูกในการรับเชื้อโรคจากตัวแม่ และสร้างระบบภูมิคุ้กัน

Visitors: 94,983