เกลี้ยงเต้า แค่ไหนถึงเรียกว่าเกลี้ยงจริง?

ในความเป็นจริงแล้ว เต้านมจะไม่เคยเกลี้ยงจริงๆ  เพราะร่างกายจะทำการผลิตน้ำนมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีการวิจัยพบว่า ทารกไม่ได้ดูดนมจนหมดเต้า แต่ปริมาณน้ำนมที่ทารกดูดออกไปนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความหิวในแต่ละครั้ง แตกต่างกันในแต่ละมื้อ ซึ่งปกติจะประมาณ 75 - 80 % ของปริมาณน้ำนมที่มีในเต้านม 

 

"เกลี้ยงเต้า" เป็นคำที่หลายคนความพยายามให้ความสำคัญ และพยายามจะทำให้นมเกลี้ยงเต้า แต่มันก็เหมือนกับความพยายามที่จะทำให้แม่น้ำแห้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อน้ำนมถูกนำออกไป ก็จะมีการผลิตน้ำนมใหม่เข้ามาแทนที่  

 

เพราะฉะนั้น ยิ่งทำให้เต้านมมีน้ำนมน้อยลง ด้วยการดูด หรือปั๊มออกบ่อยๆ เท่าใด เต้านมก็จะยิ่งผลิตน้ำนมเร็วขึ้นเท่านั้น เมื่อลูกดูดนมไปได้เยอะแค่ไหน การผลิตนำนมก็จะมากขึ้นเท่านั้น 

 

การกำหนดเวลาทุกกี่ชั่วโมง เพื่อให้ลูกดูดนมในแต่ละมื้อ หรือปั๊มนม เกิดจากความเข้าใจผิดว่า ต้องรอให้นมเต็มเต้าเสียก่อน แต่ไม่ได้ช่วยให้น้ำนมผลิตได้มากขึ้น ในทางตรงข้าม ถ้าเว้นช่วงห่างระหว่างมื้อนม หรือการปั๊มบ่อยครั้ง จะยิ่งทำให้การผลิตน้ำนมน้อยลงเรื่อยๆ  เพราะการมีน้ำนมสะสมในเต้ามากๆ จะยิ่งทำให้การผลิตน้ำนมช้าลง 

 

ทำอย่างไรให้เกลี้ยงเต้า หรือเอานมออกให้มากที่สุด?

 

คำตอบที่ดีที่สุด คือ ต้องให้ลูกดูดอย่างถูกวิธี และดูดอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการ

  • นวดเต้านมและบีบหน้าอกช่วย
  • ให้ลูกดูดเต้านมทั้งสองข้างในแต่ละมื้อ รอให้ลูกดูดข้างแรกนานจนพอใจ แล้วค่อยเปลี่ยนข้าง
  • บีบหรือปั๊มนมออกอีกหลังจากลูกดูดเสร็จแล้วแต่รู้สึกว่าลูกยังดูดไม่หมด ถ้าลูกดูดได้เกลี้ยงเต้าดีแล้ว การบีบหรือปั๊มเพิ่มระหว่างมื้อที่ลูกดูด ก็จะยิ่งทำให้มีน้ำนมเพิ่มขึ้น เพราะเป็นการทำให้เต้าว่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

 

ต้องใช้เวลาให้นมเต็มเต้าก่อนให้ลูกดูดหรือปั๊มหรือเปล่า

แม่ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า ต้องให้ลูกดูดให้เกลี้ยง แล้วก็ต้องรอให้เต็มใหม่ก่อน แต่ความจริงแล้ว น้ำนมจะถูกผลิตตลอดเวลา ความเร็วในการผลิตขึ้นอยู่กับว่าเต้านมนั้นว่างหรือเต็ม น้ำนมที่ถูกผลิตจะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาระหว่างมื้อนมที่ให้ลูกดูดแต่ละครั้ง เมื่อน้ำนมเริ่มเต็มเต้า การผลิตน้ำนมก็จะช้าลง 

 

ถ้าต้องการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน  สิ่งที่ต้องทำคือ พยายามนำน้ำนมออกจากร่างกายให้เร็วขึ้นและบ่อยขึ้น เพื่อให้มีน้ำนมสะสมในเต้าในระหว่างมื้อน้อยลง และถ้าต้องการเพิ่มน้ำนม ก็ต้องทำให้เต้านมเกลี้ยงที่สุดตลอดทั้งวันเท่าที่จะทำได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้

 

- นำน้ำนมออกจากร่างกายให้บ่อยมากขึ้น ด้วยการให้ลูกดูดบ่อยกว่าเดิม และ/หรือเพิ่มการบีบหรือปั๊มในระหว่างมื้อที่ลูกดูด

- พยายามทำให้น้ำนมเกลี้ยงเต้ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการดูดหรือปั๊มแต่ละครั้ง 

 

ข้อมูลอ้างอิง : How does milk production work? By Kelly Bonyata, BS, IBCLC

Visitors: 96,104