FAQ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับ Covid 19 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์

1. เชื้อ COVID-19 สามารถส่งผ่านทางการให้ลูกกินนมแม่ได้หรือไม่

  • ยังไม่มีการตรวจพบเชื้อ COVID-19 ในน้ำนมแม่ที่ได้จากแม่ที่ถูกสงสัยหรือยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ ลูกจึงมีโอกาสติดเชื้อน้อยมากๆ

 

2. ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค COVID-19 แม่ควรให้ลูกกินนมจากเต้าไหม

  • ควร!! ไม่ว่าเมื่อใด การให้ลูกกินนมแม่จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต สร้างสุขภาพดีตลอดชีวิต ให้พัฒนาการที่ดี และแม่มีสุขภาพดีขึ้นด้วย ในทางตรงกันข้าม ยังไ่ม่พบกรณีการติดเชื้อ COVID-19 ทางน้ำนม หรือจากการกินจากเต้า จึงไม่มีเหตุผลพอจะให้ลูกหยุดกิน

 

3. ในการคลอดลูก ถ้าแม่ถูกสงสัยหรือยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ COVID-19 ควรให้ทารกได้รับ skin-to-skin contact และดูดนมแม่ทันทีไหม

  • ควร!!  skin-to-skin contact ช่วยปรับอุณหภูมิและสรีรวิทยาของทารก ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตหลังคลอด ช่วยกระตุ้นน้ำนม
    การทำ skin-to-skin contact ร่วมกับการให้ลูกกินนมทันทีหลังคลอด มีข้อดีเหนือกว่าความเสี่ยงจากการติดเชื้อ COVID-19 อย่างมีนัยสำคัญ

 

4. ถ้าแม่สงสัย ถูกสงสัย หรือได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ COVID-19 แม่ควรให้ลูกกินนมแม่ต่อไหม

  • ควร!! ไม่มีเหตุผลใดในการงดนมแม่ ยังไม่มีกรณีทารกติดเชื้อ COVID-19 ผ่านทางน้ำนม และจากการให้กินนมแม่จากเต้า 
    แม่ควรใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อผ่านทางละอองฝอย ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดและบ่อยๆ รักษาสุขอนามัยที่ดี

 

5. ถ้าแม่ถูกสงสัย หรือได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ COVID-19 แม่ควรจะดูแลสุขอนามัยเรื่องนมแม่อย่างไร

  • ล้างมือให้สะอาด ล้างบ่อย ๆ ล้างก่อนสัมผัสทารก
  • สวมหน้ากากอนามัย
  • ไอหรือจามลงกระดาษทิชชู่ แล้วทิ้งไปทันที 
  • ฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดพื้นผิวบริเวณที่ใช้งานบ่อยๆ

 

6. ถ้าแม่ถูกสงสัยหรือยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ COVID-19 แต่ไม่มีหน้ากากอนามัย ควรให้ลูกกินนมแม่ต่อไปหรือไม่

  • ควร!! โดยยังทำตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออื่นๆ เช่น ล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดพื้นที่บ่อยๆ ไอหรือจามลงในกระดาษทิชชู่ ฯลฯ ยังไม่มีการประเมินผลว่าการใช้หน้ากากอื่น ๆ เช่น หน้ากากทำเอง หรือหน้ากากทำจากผ้า ว่าได้ผลป้องกันเท่าเทียมหน้ากากอนามัยหรือไม่ จึงยังไม่มีคำแนะนำว่าให้ใช้ หรือไม่ให้ใช้ทดแทนหน้ากากอนามัย

 

7. ถ้าแม่ถูกสงสัย หรือได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ COVID-19 จำเป็นต้องทำความสะอาดเต้านมก่อนให้ลูกกินนมจากเต้า หรือก่อนบีบหรือปั๊มนม หรือไม่

  • ถ้าแม่เพิ่งจะไอหรือจามโดนหน้าอกหรือเต้านมที่ไม่ได้ปกปิดไว้ ควรทำความสะอาดเต้านมก่อน โดยใช้สบู่และน้ำอุ่น ล้างอย่างน้อย 20 วินาที 
    แต่...หากไม่มีการไอ จาม โดนหน้าอกหรือเต้านมโดยตรง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำความสะอาดเต้านมทุกครั้งก่อนการให้ลูกกินจากเต้า หรือก่อนบีบนมหรือปั๊มนม

 

8. ถ้าแม่ถูกสงสัยหรือได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ Covid 19 และไม่สามารถให้ลูกกินนมจากเต้าได้ ควรทำอย่างไร

  1. ให้กินนมของตัวเองที่บีบหรือปั๊มออกมาบีบด้วยมือหรือใช้เครื่องปั๊มก็ได้ โดยล้างมือก่อนบีบปั๊มทำความสะอาดขวดและอุปกรณ์ทุกครั้งที่จะบีบหรือปั๊ม ให้คนที่ไม่มีอาการป่วยเป็นคนป้อน คนป้อนต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนป้อนนม ใช้ช้อนหรือถ้วยป้อนจะทำความสะอาดได้ง่ายกว่า
    การบีบหรือปั๊มนมช่วยรักษาปริมาณน้ำนม น้ำนมจะไม่แห้ง
  2. ให้กินนมบริจาคจากแม่คนอื่นโดยรับบริจาคจากธนาคารน้ำนมหรือการบริจาคกันเองโดยตรง
  3. ถ้าไม่มีข้อ 1 หรือ 2 ให้กินนมจากเต้าของแม่คนอื่น (แม่นม) หรือให้กินนมผสมโดยต้องเตรียมอย่างปลอดภัย

 

9. การให้ทารกกินนมแม่ที่บีบหรือปั๊มออกมาจากแม่ถูกสงสัยหรือได้รับการยืนยันแล้วติดเชื้อ Covid 19 ปลอดภัยหรือไม่

  • ปลอดภัยเพราะในปัจจุบันยังไม่มีกรณีใดที่ตรวจพบเชื้อ Covid 19 ในน้ำนมจากแม่ที่ถูกสงสัยหรือได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ Covid 19 
    โอกาสที่จะติดเชื้อ Covid 19 จากการให้ลูกกินนมที่บีบหรือปั๊มออกมาจากแม่ที่ถูกสงสัย หรือได้รับการยืนยันแล้วติดเชื้อ Covid 19 จึงน้อยมากๆ 

 

10. ถ้าแม่ที่ถูกสงสัยหรือได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ Covid 19 จะบีบหรือปั๊มนมให้ลูกต้องใช้มาตรการอะไรเป็นพิเศษในการจัดการและดูแลเครื่องปั๊มขวดนมและอุปกรณ์ต่างๆ

  • เครื่องปั๊มขวดนมและอุปกรณ์ต่างๆ จะต้องได้รับการทำความสะอาดอย่างถูกวิธีทุกครั้งหลังปั๊มอยู่แล้วไม่ว่าจะมีการระบาดของ covid 19 หรือไม่ก็ตาม 
  • ล้างขวดภาชนะและอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยสบู่เหลวหรือน้ำยาล้างจานผสมน้ำอุ่น ล้างน้ำยาออกให้สะอาด ลวกด้วยน้ำร้อน 10-15 วินาที
    ปฏิบัติตามคำแนะนำในคู่มือของเครื่องปั๊มสำหรับวิธีการทำความสะอาดที่ถูกต้อง

 

11. ถ้าแม่ที่ถูกสงสัยหรือได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ Covid 19 ไม่สามารถให้ลูกกินนมจากเต้าหรือบีบหรือปั๊มนมให้ลูกกิน ควรจะให้ลูกกินนมจากเต้าแม่คนอื่น (แม่นม) หรือไม่

  • การกินนมจากแม่นมอาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการให้นมลูกโดยขึ้นอยู่กับการยอมรับของแม่และครอบครัว การยอมรับในสังคม ความสามารถในการหาแม่นม
  • ในสภาวะที่มีความเสี่ยงจากเชื้อ HIV ผู้ที่จะเป็นแม่นมควรได้รับการตรวจ HIV ถ้าไม่สามารถตรวจ HIV ได้ควรทำการประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อ HIV เพื่อป้องกันการติดเชื้อในระหว่างการให้ทารกกินนมจากเต้าแม่นม
  • การจัดหาแม่นมควรลำดับความสำคัญให้กับทารกที่มีอายุน้อยกว่าก่อน


12. ถ้าแม่ที่ถูกสงสัยหรือได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ Covid 19 ไม่สามารถให้ลูกกินนมจากเต้าได้เพราะป่วยเกินไปหรือไม่สบายจากโรคอื่น จะกลับมาให้ลูกกินนมจากเต้าได้เมื่อไร

  • แม่สามารถกลับมาให้ลูกกินนมจากเต้าได้ทันทีหลังจากที่รู้สึกสบายดีและพร้อมให้นม ไม่มีระยะเวลาที่ต้องหยุดรอหลังจากถูกสงสัยหรือได้รับการยืนยันการติดเชื้อ
  • แม่ควรได้รับการดูแลร่างกายและสุขภาพทั่วไป ได้รับสารอาหารเพื่อฟื้นตัว และควรได้รับความช่วยเหลือในการให้ลูกกินนมจากเต้าและการกระตุ้นน้ำนมอีกครั้งจากผู้เชี่ยวชาญ

 

13. ผลการทดสอบการติดเชื้อ Covid 19 มีผลต่อคำแนะนำในการให้อาหารทารกหรือเด็กเล็กอย่างไร

  • การทดสอบการติดเชื้อ Covid 19 ไม่มีผลอะไรต่อการตัดสินใจในการให้อาหารทารกหรือเด็กเล็ก
    แต่ถ้ามีการยืนยันการติดเชื้อแล้วแม่จะต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในการรักษาสุขอนามัยในช่วงที่มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อ นั่นคือในระหว่างที่มีอาการป่วย หรือ 14 วันหลังจากแสดงอาการ โดยให้ยึดจากระยะเวลาที่นานกว่า

 

14. ถ้าแม่ที่ถูกสงสัยหรือได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ Covid 19 ให้ลูกกินนมแม่อยู่แล้วควรเสริมนมผงให้ลูกหรือไม่

  • ไม่ควรและไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะเสริมนมผงเพราะการเสริมนมผงจะทำให้เต้านมผลิตน้ำนมลดลง
  • ถ้าแม่กังวลว่าลูกจะได้นมไม่พอควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าเต้าที่ถูกต้อง การดูดนมของทารกอย่างไรที่จะได้น้ำนม การให้ลูกได้กินนมตามจังหวะ และความต้องการของลูก เพื่อเพิ่มความถี่และปริมาณการกินนม

 

15. ใจความสำคัญ: ยังไม่มีการตรวจพบเชื้อ Covid 19 ในน้ำนมแม่ที่ได้จากแม่ที่ถูกสงสัยหรือได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ Covid 19
และยังไม่มีหลักฐานว่าเชื้อไวรัสสามารถติดต่อจากการให้ลูกกินนมแม่ ทารกมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ Covid 19 ต่ำ และเด็กที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อแล้วส่วนใหญ่แสดงอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการเลย

การให้ลูกกินนมแม่และ skin-to-skin contact ลดความเสี่ยงการตายหลังคลอดอย่างมีนัยสำคัญ สร้างพัฒนาการและสุขภาพที่ดีที่มีผลกระทบต่อชีวิตของทารก

ข้อดีและประโยชน์ต่างๆ ของการให้ลูกกินนมแม่มีมากกว่าความเสี่ยงการติดเชื้อและการป่วยจาก Covid-19 อย่างมีนัยสำคัญ

16. ถ้าแม่ถูกสงสัยหรือได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ covid 19 การให้ลูกกินนมผงจะปลอดภัยกว่าการให้ลูกกินนมแม่หรือไม่

  • ไม่ปลอดภัยกว่า เพราะการให้ ลูกกินนมผงมีความเสี่ยงและอันตรายมากกว่านมแม่ ในทุกสถานการณ์
  • ความเสี่ยงและอันตรายของนมผงจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในสถานการณ์ไม่ปกติ เนื่องจากเกิดความลำบากในการไปโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์พยาบาล มีปัญหาในการจัดหาน้ำสะอาด หรือการจัดหานมผง (การให้ลูกกินนมแม่และสร้างระดับน้ำนมของแม่ให้เพียงพอ จะทำให้ลูกมีอาหารที่ปลอดภัย คุณภาพสูงตลอดไป)

 

17. คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการให้ลูกกินนมแม่และ Covid 19 ควรนำไปใช้ในช่วงเวลาใดบ้าง

  • คำแนะนำในการดูแลทารกและให้ลูกกินนม สำหรับแม่ที่ถูกสงสัยหรือได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ Covid 19 ควรนำไปใช้ในช่วงที่มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อ นั่นคือในระหว่างที่มีอาการป่วย หรือ 14 วันหลังจากแสดงอาการ โดยยึดจากระยะเวลาที่นานกว่า

 

18. ทำไมคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกจึงแตกต่างจากคำแนะนำในการรักษาระยะห่างทางสังคมในกรณีทั่วไป

  • คำแนะนำทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่และเด็กโตมีเป้าหมายเพื่อลดการสัมผัสกันระหว่างผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อในภาพรวมของสังคม และลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วจะแสดงอาการรุนแรงกว่า
  • คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการให้นมแม่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของทารกหลังคลอดและสุขภาพและพัฒนาการของทารกในระยะยาว 
  • องค์การอนามัยโลกพิจารณาความเสี่ยงและอันตรายของ Covid 19 ในทารกเทียบกับความเสี่ยงและอันตรายจากการไม่ได้กินนมแม่หรือการกินนมผงแทนนมแม่ 
  • ทารกที่ติดเชื้อ Covid 19 ส่วนมากมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการ ในขณะที่การได้กินนมแม่มีประโยชน์เหนือกว่าความเสี่ยงจากการติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ 

 

19. สถานพยาบาลควรรับบริจาคนมผงให้ทารกที่แม่ถูกสงสัยหรือได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ Covid 19 หรือไม่ 

  • สถานพยาบาลไม่ควรยอมรับหรือขอรับบริจาคนมผงสำหรับทารก 
  • นมผงจากการบริจาคมักจะมีคุณภาพแตกต่างกัน เป็นนมผิดประเภท ไม่ตรงกับความต้องการของร่างกายทารก ภาษาบนฉลากไม่ถูกต้อง ไม่มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการเก็บ มีการแจกจ่ายที่ไม่เหมาะสม ไม่ตรงกับเป้าหมายที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ไม่สามารถจัดหาได้อย่างยั่งยืน ต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากเกินไปเพื่อป้องกันปัญหาและอันตรายจากการใช้ 
  • ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้นมผงจริงๆ ควรจัดซื้อตามการประเมินความต้องการในสถานพยาบาล

 

20. ทำไมคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการสัมผัสกันระหว่างแม่ลูกและการให้ลูกกินนมแม่ของแม่ที่ถูกสงสัยหรือได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ Covid 19 จึงแตกต่างจากคำแนะนำของหน่วยงานรัฐอื่นๆ

  • คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการให้นมแม่พิจารณาภาพรวมทั้งความเสี่ยงจากการติดเชื้อ Covid 19 การเจ็บป่วยร้ายแรงและการเสียชีวิตจากการไม่ได้กินนมแม่หรือการกินนมผงที่ไม่เหมาะสม และประโยชน์ของ skin to skin contact และการให้ลูกกินนมแม่ในการปกป้องทารก 
  • คำแนะนำของหน่วยงานอื่นๆ อาจเน้นเฉพาะการป้องกันการติดเชื้อ Covid 19 โดยไม่ได้พิจารณาความสำคัญของ skin to skin contact และการให้ลูกกินนมแม่ที่มีต่อทารกในภาพรวม


ที่มา https://www.who.int/docs/default-source/maternal-health/faqs-breastfeeding-and-covid-19.pdf 

เผยแพร่โดยองค์การอนามัยโลก (WHO)

Visitors: 94,999