นมไม่พอ นมน้อย

นมน้อยจริงๆหรือ

คุณแม่ให้นมจากเต้าหลายท่านมีความกังวลว่านมมีน้อยไปไม่พอให้ลูกกิน แต่จริงๆ แล้วคุณแม่อาจจะกังวลไปเอง สิ่งต่อไปนี้ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่านม “ไม่พอ”

1. #ลูกหงุดหงิด

มีหลายสาเหตุ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องนมอย่างเดียว ง่วงนอน ฉี่เต็มผ้าอ้อม ปวดอึ ยุงกัด ร้อนไป หนาวไป ฯลฯ แม่ต้องนึกหาสาเหตุต่าง ๆ และรู้จักอ่าน “คิว” ลูกค่ะ แต่แน่นอน ถ้าหาไม่เจอ การเอาลูกเข้าเต้าก็แก้ปัญหาการร้องจ้า ๆๆๆ ได้ในระดับหนึ่ง ถ้าลูกขอนมก็ให้กินจากเต้าได้เลย

2. #ลูกกินบ่อยมาก

นมแม่ย่อยง่ายมาก ภายใน 1.5-2 ชั่วโมงก็ย่อยหมดแล้ว ดังนั้น ทารกที่กินนมแม่จึงกินบ่อย แถมทารกแรกคลอดยังมีธรรมชาติที่ติดตัวมาอีกอย่างคือ ความอยากดูด (จุกนมหลอกจึงขายดี) ความอยากดูดเป็นสัญชาตญาณหนึ่งของทารก อีกอย่าง ลูกกก็อยากสัมผัสกับแม่เพื่อความอบอุ่นกายสบายใจของเขา การให้ความอบอุ่น โดยโอบอุ้ม และให้นมดูดไปด้วย ทำให้ลูกรู้สึกสบายใจและสบายกาย สร้างความมั่นใจและคลายความกังวลของลูกลง

3. อยู่ดี ๆ ลูกก็ #กินบ่อยและกินนาน มากขึ้น

มักเป็นเพราะทารกอยู่ในช่วงเร่งการเติบโต (Growth Spurt) ร่างกายของทารกบอกว่าต้องการกินมาก ๆ เพื่อสร้างอวัยวะต่าง ๆ คุณแม่ก็ต้องให้ตามที่ต้องการ จะเป็นช่วงที่เหนื่อยกว่าช่วงอื่น ๆ แต่ก็จะผ่านพ้นไป ถ้าถอดใจไปเสริมนมผงร่างกายคุณแม่ก็จะไม่สร้างน้ำนมเพิ่มตามที่ลูกต้องการ ทำให้เสียโอกาสการสร้างน้ำนมเยอะ ๆไป

4. #ลูกกินนมจากเต้าเสร็จมากินนมจากขวดต่อได้อีก

กินอั้กๆ ไม่ยั้งเลย ก็ไม่จำเป็นว่าเป็นเพราะนมจากเต้าเราไม่พอ ส่วนใหญ่กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อลูกกินจากเต้าแล้ว ยังร้องอยู่ ซึ่งอาจเป็นเพราะธรรมชาติของทารกเอง บางทีมันก็ไม่ได้มีสาเหตุที่ชัดเจน คุณแม่ให้เต้าต่อ กินเสร็จ ร้องอีก ต่อเนื่องหลายรอบคุณแม่เริ่มเพลียและไม่มั่นใจ เลยให้ขวด ขวดที่มีนมเต็ม ๆ ดูดเข้าไปมันก็อั้ก ๆ ดูดเสร็จกลืน เอ้า นมมาต่อไม่หยุด คุณแม่นั่งดูก็รู้สึกว่าลูกคงยังหิวอยู่ แสดงว่านมเราไม่พอแน่ ๆเลย คราวนี้ก็เลยติดที่จะเสริมให้ลูกกันไป ในที่สุดก็จะทำให้นมคุณแม่น้อยลงจริงๆ ได้

ดังนั้น ถ้าลูกร้อง ๆๆๆ หลังให้นมจากเต้า ก็ให้เต้าต่อค่ะ นอนเอียงหลับไปกันเลย เดินให้นม นั่งให้นม ดูโทรทัศน์ ฯลฯ โดยไม่เสริมขวด ถ้าหากว่าทั้งวันที่ให้เต้านมล้วนใน 24 ชั่วโมง แล้วนับว่าลูกฉี่ได้ 6-8 ครั้ง และน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์นมแม่ (วัดด้วยเครื่องชั่งที่รพ. เครื่องเดิม) แบบนี้ลูกได้นมพอ เราเรียกช่วงนี้ว่า #ช่วงวัดใจแม่ ดีไหมคะ

5. #ลูกกินเสร็จเร็วกว่าเดิม

คุณแม่ก็กังวลไปอีก จริง ๆ พอทารกโตขึ้น เด็กจะสามารถดูดนมออกได้เก่งขึ้น ดูดแป๊บเดียวก็เสร็จแล้ว หรือบางคนก็เกิดจะอยากเล่น อยากเห็น อยากฟัง เดี๋ยวไปดูก่อนแล้วมากินต่อ...แม่อย่ากังวลไป

6. #ไม่รู้สึกจี๊ด หรือเคยจี๊ดแล้วหายไป

“จี๊ด” ในที่นี้คือปฏิกิริยานมพุ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อกลไกการปล่อยน้ำนมให้หลั่งออกมาจากหัวนมทำงาน คุณแม่บางคนรู้สึกจั๊กจี้ ตึง ๆ จี๊ด ๆ แต่บางคนไม่เคยรู้สึกเลย ก็เป็นเรื่องธรรมดานะคะ ไม่รู้สึกก็ไม่ได้แปลว่านมไม่ออก อย่าไปเทียบกับคนอื่นทุกเรื่อง

7. #น้ำนมไม่ซึมออกมาจากหัวนม ทั้ง ๆ ที่เคยซึม

เป็นเพราะร่างกายปรับได้แล้วว่าลูกต้องการดื่มเท่าใดในแต่ละช่วงเวลาและไม่สร้างออกมามากเกินไป

8. #นมไม่คัด

เป็นเพราะร่างกายปรับตัวได้แล้วเช่นเดียวกัน

9. #ปั๊มออกมาได้น้อย

ไม่ได้หมายความว่านมน้อย การใช้เครื่องปั๊มนมก็เหมือนกับการขับรถ ขับรถจนวิ่งได้ ไม่ได้แปลว่าขับดี คุณแม่บางท่านมีน้ำนมเยอะแต่ปั๊มไม่ออก บางท่านน้ำนมน้อยก็ปั๊มไม่ออก มันอยู่ที่ความชำนาญในการปั๊มนมและเครื่องปั๊มที่ใช้ คุณแม่ไม่ต้องกังวลไป ถ้าลูกดูดเต้าได้ เด็กจะสามารถรีดน้ำนมออกมาได้ดีกว่าเครื่อง แต่ถ้าลูกดูดเต้าไม่ดี ต้องแก้ไขการดูด และปั๊มนมกระตุ้นเสริม ดังนั้น หัดให้ลูกดูดเต้าได้เป็นดีที่สุด แต่ถ้าหากว่าไม่แน่ใจว่าปั๊มนม "เก่ง" หรือยัง อันนี้ปรึกษาโค้ชนมแม่ที่เชี่ยวชาญเรื่องการปั๊มนมได้


การวัดปริมาณว่าลูกได้น้ำนมพอหรือไม่นั้น คุณแม่ต้องชั่งน้ำหนักลูก แต่ต้องใช้ตาชั่งมาตรฐานอันเดิมทุกครั้ง ซึ่งตาชั่งที่ใช้ตามบ้านไม่มีความละเอียดเท่าที่โรงพยาบาลใช้ ดังนั้น อีกวิธีที่ง่ายกว่าก็คือ นับจำนวนผ้าอ้อมเปียกและจำนวนที่อึในแต่ละวัน

ในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 สัปดาห์ หากผ้าอ้อมเปียกเกิน 6 ผืนต่อวันถือว่าได้รับน้ำนมมากพอ ฉี่ควรเป็นสีเหลืองจางๆ และกลิ่นไม่แรง จำนวนอึอาจได้ถึง 3-4 ครั้งต่อวัน (แรกเกิด ถึง วันที่ 21) โดยอึเป็นสีเหลือง เหลว (นิ่มถึงเป็นน้ำ อาจมีเม็ด ๆ ปน หรือ นิ่ม ๆ) ขนาดประมาณเหรียญ 5 บาทไทย

อย่ากังวลไปเลย ถ้าสงสัย จับดูดเต้าไปเลย ลูกหยุดร้อง ท้องอิ่ม แม่เพิ่มน้ำนมได้ด้วย ถ้าเสริมขวดวงจรผลิตน้ำนมจะขาด นมจะไม่พอก็ตอนเสริมขวดนี่ล่ะ

ถ้ายังไม่สบายใจ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ เพื่อจะได้รู้คำตอบ และแก้ไขได้ทันท่วงที

ตามหาโค้ชนมแม่

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล
    พื้นที่เขตในกรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นมน้อย นมไ...
  • ภาคเหนือ
    เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ปั๊มไม่ออก ปั๊มแล้วเจ็บ ปั๊มไม่เ...
  • ภาคอีสาน
    กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศ...
  • ภาคตะวันตก
    กาญจนบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ทุกปัญหาเรื่องนมแม่ แก้ได้เสมอ เราจะช่วยให้คุณแม่เลี้...

ปั๊มไฟฟ้า ยี่ห้อไหนดี 2564

Visitors: 94,949