ช่วงเติบโตไว

Growthspurt ช่วงวัดใจคุณแม่มือใหม่


แปลตรงตัวว่า “ช่วงเติบโตอย่างพุ่งพรวด” นั่งนึกคำศัพท์ไทยก็ยังนึกไม่ออก ว่ากันว่าน่าจะตรงกับคำว่า “ยืดตัว” ที่คนไทยใช้กัน

คำว่ายืดตัวเป็นคำไทยใช้มาแต่โบราณ เป็นช่วงที่ว่าเด็กท้องเสียติดต่อกันหลายวัน ตอนอายุ 4-5 เดือน หรือ 8-9 เดือน เพราะกำลังเติบโตเร็ว มีการเปลี่ยนท่าทางการนั่งนอนหรือจะยืน จะว่าไปก็คล้ายกับคำว่า Growth spurt นี้ได้

แต่เวลาใช้คำนี้ ฝรั่งไม่ได้หมายถึงอาการท้องเสียร่วมด้วยเสมอไป ที่แน่ๆ ปรากฏการณ์ Growth spurt นี้เกิดขึ้นกับทารกทุกคน มันคืออะไร ทำไมต้องรับมือ มาอ่านดูค่ะ

Growth spurt เป็นระยะเวลาที่ทารกหรือเด็กเข้าสู่ช่วงที่มีการพัฒนาการทางร่างกายอย่างมาก ทำให้เกิดความต้องการอาหารมากขึ้น รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ด้วย


ลักษณะสำคัญของ Growth spurt ในทารก คือ

  1. ตื่นบ่อย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้อยู่คนเดียว (การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์)
  2. อึและฉี่บ่อยขึ้น (การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย) อันนี้ที่น่าจะตรงกับของเราว่าท้องเสีย (อึบ่อย เหลว)
  3. เติบโตใหญ่ขึ้น ตัวยาวขึ้น (การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย) แต่น้ำหนักไม่จำเป็นต้องขึ้น เพราะ...
  4. มีพัฒนาการ และความสามารถเพิ่มขึ้น เช่น นั่ง คลาน ยืน เดินได้
  5. มีความต้องการกินถี่มาก
  6. มีความต้องการให้อุ้มและกอดบ่อยๆ ขึ้น (การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์)

Growth spurt มักจะเกิดที่ช่วงอายุต่อไปนี้

  • 3-10 วันหลังคลอด
  • 3-6 สัปดาห์
  • 2-4 เดือน
  • 6 เดือน
  • 9 เดือน

และแต่ละช่วง จะเป็นอยู่ประมาณ 3-10 วัน แล้วแต่คน

จะเห็นได้ว่า ช่วงแรกเกิดถึง 3-4 เดือนมี growth spurt อยู่ 3-4 ครั้ง ซึ่งในช่วงนี้คุณแม่มือใหม่ทั้งหลายมักจะเหนื่อยล้า และมีความไม่มั่นใจในการให้นมอยู่แล้ว พอมาเจอ growth spurt เข้าไปอีก คุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเหนื่อยมาก ทำไมไม่ได้หลับได้นอน ทำไมลูกไม่นอนทำไมลูกร้องไม่หยุด นมไม่พอแน่ๆ ลูกดูดตลอดเวลา เอานมออกก็ร้องอีก


สิ่งที่คุณแม่ต้องทำ

  1.  ให้นม (เข้าเต้า) เมื่อลูกหิว ประมาณทุก 1-2 ชั่วโมงในช่วงกลางวัน และ 1-4 ชั่วโมงในช่วงกลางคืน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมของตนเองตามที่ลูกต้องการ (โอกาสทองในการเพิ่มน้ำนมเลย)
  2. อุ้มลูกบ่อยๆ ถอดเสื้อให้นมให้เนื้อแนบเนื้อ หรืออุ้มในเป้ เพื่อให้ความอบอุ่นทางใจแก่ลูก อาจให้ลูกดูดนิ้วก้อย (ที่สะอาด) เพื่อบรรเทาอาการอยากดูดเป็นครั้งคราว
  3. นอนให้นม จัดที่นอนให้ปลอดภัย ใช้ผ้าห่มบาง ไม่มีหมอนข้าง จัดท่านอนให้นมแล้วพักผ่อนไปด้วยกัน

 

เมื่อคุณแม่รับมือได้ และพ้นจากช่วง growth spurt แล้วคุณแม่ก็จะรู้สึกเหนื่อยน้อยลงบ้าง แต่ไม่นานก็จะเข้ารอบใหม่อีก อดทนๆ นะคะ เพื่อให้นมมาให้พอความต้องการของลูกที่กำลังเติบโต

สำหรับคุณแม่นักปั๊มที่ให้ขวดอาจจะสังเกตว่าลูกทานเยอะกว่าปกติ ก็เป็นเพราะ growth spurt นี่ล่ะ ถ้าอยากจะลองเข้าเต้าดูก็น่าลองในช่วงนี้เพราะเด็กจะมีความอยากดูดมากเป็นพิเศษ

ที่มา: www.llli.org
http://kellymom.com/hot-topics/growth-spurts/

Visitors: 96,549