นมแม่ สิทธินี้ใครตัดสิน?

นมแม่ สิทธินี้ใครตัดสิน?

แปลกไหม เมื่อใครๆ ก็รู้ว่านมแม่ดีที่สุด แต่ทำไมบ้านเรา ถึงมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรก
เป็นสถิติที่ต่ำเตี้ยที่สุดในเอเชีย และเกือบจะเป็นที่โหล่ของโลก ไม่ว่าจะข้อมูลจากตำราไหน ต่างก็บอกตรงกันว่า 'นมแม่'
คืออาหารที่ดี และ มีคุณค่ามากที่สุด เพราะประกอบไปด้วยสารอาหารต่างๆ ภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมน ตลอดจนอนุมูลอิสระ
ที่จำเป็นสำหรับเด็กวัยแรกเกิด เพื่อใช้ในการป้องกันความเจ็บป่วย และให้ทารกเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงสมบูรณ์


แต่ถ้าจะบอกว่า 'ต้องให้นมแม่อย่างเดียวตลอดช่วง 6 เดือนแรกของคุณลูก' เชื่อว่า แม่ๆ หลายคนถอยกรูด
บ้างเป็นเพราะใจไม่สู้ บ้างก็ไม่ไหวจะเคลียร์กับปู่ย่าตายายที่ร่ำร้องบอกว่าหลานหิวน้ำ หรือไม่ก็ใจอยากสู้แต่ไม่ไหว
เพราะงานล้นมือ ไม่กล้าเป็นคนเห็นแก่ตัวในสายตาที่ทำงาน ส่วนบางคนความตั้งใจดีเลิศ แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ
เพราะน้ำนมไม่มา


ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ต่างก็ทำให้วันนี้ประเทศไทยมีเด็กแรกเกิดเพียงร้อยละ 5.4 ที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว
ในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต ซึ่งถือเป็นอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวที่ต่ำที่สุดในเอเชีย
และจัดอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลก


ก่อนจะไปตามหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น เราลองมาดูกันก่อนไหมว่า ทำไมต้อง '6 เดือน' และทำไมต้อง 'นมแม่เพียงอย่างเดียว'
(แม้แต่น้ำก็ห้าม) ในขณะที่แพทย์หลายท่านยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องนานถึง 6 เดือน แถมบางท่านยังบอกเป็นนัยๆ ด้วยซ้ำว่า
นมผง ก็ดีไม่แพ้กัน!


คำถามแรกมีคำตอบโดยข้อมูลจาก ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ระบุว่า ที่ต้องเป็นนมแม่เพียงอย่างเดียว ก็เพราะนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุด
สำหรับวัยนี้ เนื่องจากในระยะ 6 เดือนแรกเป็นช่วงที่สมองของทารกเติบโตเร็วมาก แต่ขนาดของกระเพาะที่ยังเล็ก ทำให้การได้รับอาหารอื่น
อาทิ ข้าว กล้วย นมผสม หรือ แม้แต่น้ำ จะไปแย่งพื้นที่ของนมแม่ นอกจากนี้ด้วยวัยที่ยังเล็กมาก ทำให้เด็กมีโอกาสเจ็บป่วย ไม่สบาย
เพราะได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนมากับอาหาร รวมถึงโอกาสในการแพ้โปรตีนแปลกปลอมที่มากับอาหารหรือนมผสม


ที่สำคัญคือ การให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนเต็ม แทนที่จะเป็น 4 เดือนอย่างที่เคยรู้ในสมัยก่อน ก็เพราะมีข้อมูลการวิจัยใหม่ที่ยืนยันว่า
ระยะเวลาที่นานขึ้น มีข้อดีต่อทารกมากกว่า ทั้งช่วยลดอาการเจ็บป่วยจากโรคท้องเสีย ทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ และยังเกิดผลดีต่อ
พัฒนาการของสมองเด็ก โดยไม่ต้องพึ่งสารสกัดสารพัดสูตรในนมผงเลย ซึ่ง พญ.กรรณิการ์ บางสายน้อย คุณหมอผู้ต่อสู้
เพื่อการให้นมแม่มากว่า 30 ปี ช่วยเสริมข้อมูลให้อีกด้วยว่า หลังจาก 6 เดือนแรก ถ้าคุณแม่ยังมีน้ำนม ส่วนคุณลูกก็ยังชอบกินนมแม่อยู่
ก็สามารถให้นมแม่ต่อไปได้เรื่อยๆ ควบคู่กับการให้อาหารประเภทอื่น จนกว่าน้ำนมจะไม่มี หรือลูกจะหมดความอยาก


"นอกจากเรื่องสารอาหารแล้ว การดูดนมแม่ยังกระตุ้นทุกๆ เรื่อง ทั้งสายตา สัมผัส หูก็ได้ยินเสียงแม่พูดคุยด้วย จมูกก็ได้กลิ่นแม่
นอกจากนี้ก็ยังช่วยพัฒนาช่องปาก เพราะเด็กได้ฝึกใช้กล้ามเนื้อ ถ้ากินนมขวด ลิ้นก็จะไม่ได้ทำงาน แถมเด็กยังจะอ้วนด้วย"
หมอกรรณิการ์ อธิบาย


และยังเผยความลับอันมหัศจรรย์ของนมแม่ให้ฟังอีกด้วยว่า.. สารอาหารในน้ำนมแม่จะเปลี่ยนไปตามความต้องการในแต่ละช่วงวัยของเด็ก
โดยไม่จำเป็นต้องเสริมด้วยนมผงสารพัดสูตร เพราะนมแม่นี่แหละ คือ Gold Standard ที่นมผงแต่ละยี่ห้อพยายามที่จะลอกเลียนแบบให้ได้


'ยา' จาก 'เต้า'

ถ้าใครมาบอกว่า นมแม่มีประโยชน์แค่เรื่องสารอาหารหรือความอบอุ่นทางจิตใจกับคุณแม่ลูกสองรายนี้ เธอคงเถียงขาดใจ
เพราะสำหรับ 'จิ๊บ' ปนัดดา โสธนไพศาล เธอยืนยันว่า นมจากเต้าของเธอนี่แหละ ที่ช่วยชีวิตลูกน้อยเอาไว้ได้


"จิ๊บมีภาวะครรภ์เป็นพิษ ตอนคลอดลูกคนเล็กคลอดก่อนกำหนด อายุครรภ์แค่ 32 สัปดาห์ ซึ่งหมอบอกว่า โชคดีมากที่รอดมาได้
ทั้งแม่ทั้งลูก แต่ทีนี้รู้ว่า ลูกออกมามีน้ำหนักน้อยมาก แค่ 1.8 กิโลกรัม ออกมาได้แป๊บเดียวลดเหลือ 1.7 ก็ต้องอยู่ในห้องไอซียูของเด็ก
แล้วคุณหมอบอกเลยว่า นมแม่เท่านั้นที่จะช่วยลูกได้ ให้บีบออกมาเลย ก็เอาเครื่องมากระตุ้นน้ำนม ครั้งแรกได้น้ำนมสีเหลืองออกมา 50 ซีซี
พอน้องทานไปได้ 3 ชั่วโมงก็หายใจเองได้ ก็ดีใจ ปั๊มใหญ่เลย แต่พอสองวันแล้วก็ยังไม่ได้เห็นหน้าลูก ก็เครียดมาก ร้องไห้ตลอด
ซึ่งพอเครียดน้ำนมก็เลยหมด หมอต้องพยายามปลอบให้หยุดร้อง บอกว่า ถ้าน้ำตาหมด น้ำนมจะมา แต่ตอนนั้นแบบว่าใจเสียมาก
กลัวลูกจะแย่ ยิ่งไม่ได้เห็น ก็ยิ่งกังวลไปกันใหญ่ ก็โวยวายกับหมอ ว่าจะไปหาลูก" คุณแม่นักสู้เล่า


เมื่อหมอยอมแพ้ให้เธอไปดูหน้าลูกได้ แต่กลายเป็นว่าพอไปเห็นกลับต้องเครียดหนัก เพราะลูกมีสายระโยงระยางแถมยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ
และแน่นอนว่า ความเครียดมา น้ำนมหาย แต่คราวนี้จิ๊บรู้ว่า เธอจะต้องสู้ เพราะอย่างที่คุณหมอบอก ...นมแม่เท่านั้นที่จะช่วยลูกของเธอได้


"ตอนนั้นพยายามปั๊มนมให้ได้มากๆ เคยปั๊มได้มากสุดวันละลิตรครึ่ง โชคดีที่จิ๊บเองทำงานที่โรงพยาบาลนั้น ก็พยายามยื้อขอนอนที่โรงพยาบาล
ให้นานที่สุด แต่ก็ได้ไม่กี่วัน ก็ต้องย้ายออก แต่ก็ยังมานั่งเฝ้าลูกได้ อาศัยนั่งที่ห้องทำงานเพราะหน้าห้องไอซียูไม่มีที่นั่ง ลูกอยู่โรงพยาบาล 17 วัน
ก็มาหาลูกตลอด เดินไปปั๊มนม แล้วก็ไปส่งให้พยาบาล ทำอย่างนี้ตลอด หมอเห็นแล้วสงสาร ก็เลยบอกว่าไม่ต้องไปปั๊มแล้ว ให้มาดูดจากเต้าเลย"


ที่จิ๊บเล่า คือ วิธีการให้นมเด็กในแบบที่เรียกว่า 'แกงการู แคร์' ( Kangaroo care) หมายถึง การดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักน้อย
โดยให้แม่อุ้มลูกแนบตัวให้ผิวหนังแม่กับลูกสัมผัสกันโดยตรง (Skin to skin care) เด็กจะได้ยินเสียงหัวใจของแม่เหมือนอยู่ในครรภ์
นอกจากนี้เมื่อตาประสานตา หูก็ได้ยินเสียงแม่ ขณะเดียวกันก็เกิดความอบอุ่น ที่ไม่ใช่แค่ทางจิตใจ แต่ยังช่วยปรับอุณหภูมิให้กับเด็ก
ที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งมักมีภาวะตัวเย็น


แต่สิ่งที่สำคัญ คือ แกงการู แคร์ ไม่ได้ช่วยปรับสมดุลให้เจ้าตัวน้อยเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมแม่ ทั้งปริมาณและระยะเวลา
ทำให้น้ำนมของแม่มีมากขึ้น ซึ่งโดยปกติน้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันสูงอยู่แล้ว ถ้ายิ่งทารกคลอดก่อนกำหนดได้กินนมแม่มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยลด
และป้องกันการติดเชื้อได้ดีขึ้นอีกด้วย หลังจากความพยายามอย่างถึงที่สุดของจิ๊บและครอบครัว ทำให้ในที่สุดหลังจากต้องเทียวไปเทียวมา
บ้านโรงพยาบาลเกือบ 20 วัน ลูกน้อยของเธอก็ได้กลับบ้าน ด้วยน้ำหนัก 2.4 กิโลกรัม และเพิ่มขึ้นเป็น 3 กิโลกรัมตอนอายุครบเดือน
ปัจจุบันทารกน้อยวัย 3 เดือนมีน้ำหนัก 3.2 กิโลกรัม


เมื่อดีวันดีคืนขนาดนี้ เธอจึงเชื่อมั่นในน้ำนมแม่มาก โดยวันนี้จิ๊บตุนนมแม่ไว้ได้ประหนึ่งคลังแสงเลยทีเดียว จากตอนแรกกลับบ้าน
ปั๊มนมใส่ตู้เย็นทั่วไปและเต็มในไม่กี่วัน เธอลงทุนซื้อตู้เย็นสองประตู เพื่อจะพบว่า เต็มภายในสองอาทิตย์ จึงต้องลงทุนอีกครั้ง
ซื้อตู้แช่มันเสียเลย เพื่อจะได้เก็บคลังยาธรรมชาติให้กับลูกน้อยของเธอได้ทานอย่างเพียงพอ

(อย่า)พรากลูกจาก อก แม่

สำหรับเคสของจิ๊บ เธอยอมรับว่า ในช่วงแรกที่คุณหมอประเมินว่า อาจต้องคลอดก่อนกำหนด เธอก็ค่อนข้างเขวอยู่เหมือนกัน
เพราะเดิมเคยตั้งใจจะให้ลูกกินนมแม่ แต่ในช่วงนั้นเปิดนิตยสารฉบับหนึ่งอ่าน มีสกู๊ปเกี่ยวกับเด็กคลอดก่อนกำหนด
และมีคุณหมอท่านหนึ่งออกมาบอกว่า จะต้องกินนมผงสูตรพิเศษ และถัดจากสกู๊ปดังกล่าว ก็มีหน้าโฆษณานมยี่ห้อหนึ่ง
ที่บรรยายสรรพคุณตรงกัน


แต่จากการค้นคว้าหาข้อมูลระหว่างตั้งท้องลูกคนเล็ก เธอก็ยังเชื่อในนมแม่ โดยเฉพาะเมื่อมองดูลูกคนโต ซึ่งหมอบอกว่า 'แพ้นมแม่'
และต้องกินนมพิเศษที่ขมมาก จนเด็กมีความผิดปกติเรื่องการกิน ทานยากมาก บางครั้งไม่ทานอะไรเลย จนต้องนอนโรงพยาบาล
นานถึง 3 วัน และต้องเข้ารับการรักษากับหมอถึง 5 คน คือ หมอปรับพฤติกรรม หมอลำไส้ หมอกิจกรรมบำบัด หมอภูมิแพ้
และหมอประจำตัว จนกระทั่งปัจจุบันอายุ 4 ขวบแล้วก็ยังทานยากอยู่ดี


เมื่อตั้งสติย้อนกลับไปที่ความตั้งใจเดิม ยิ่งโชคดีที่หมอที่ดูแลก็เห็นตรงกัน ทำให้เธอมั่นใจในการตัดสินใจ จนสุดท้ายยาจากอกแม่อย่างเธอ
ก็ได้ช่วยชีวิตเจ้าตัวน้อยไว้ได้ในที่สุด

พิจารณาดู จะเห็นว่า เคสนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนของหลายๆ องค์ประกอบที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อ "พรากลูกจากอกแม่"

... ถ้าคุณหมอของลูกคนโตไม่ด่วนนำเสนอนมพิเศษให้เธอกับลูก

... ถ้าโรงพยาบาลทุกที่มีการทำแกงการู แคร์ และ สนับสนุนให้แม่ได้ให้นมลูกแม้ในยามวิกฤติ

... ถ้าคนรอบข้าง ตลอดจนสังคมใส่ใจ และเป็นกำลังใจให้กับผู้เป็นแม่ โดยถือว่า นี่คือความรับผิดชอบของคนทุกๆ คน

และที่สำคัญคือ

... ถ้าบริษัทนมผงไม่ละเมิดสิทธิของเด็กที่ควรจะได้รับไออุ่นจากแม่ในยามที่ต้องการมากที่สุด

โดยเฉพาะกรณีท้ายสุด ซึ่งดูเหมือนว่า จะยังเป็นประเด็นร้อนแรง เพราะบ้านเราใกล้จะมีกฎหมายควบคุมการตลาดนมผง
อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเสียที โดยขณะนี้ได้เกิด ร่างพระราชบัญญัติการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ....
เพื่อรอเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติ และหากประกาศใช้จริง นมแม่ ก็จะสามารถต่อสู้โดยมีแรงสนับสนุนเป็นข้อกฎหมาย
จากที่แต่เดิมเคยเป็นแค่การขอความร่วมมือตามกฎที่เรียกว่า 'CODE นม' หรือ หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่
ซึ่งเป็นแค่ตัวหนังสือในกระดาษที่ไม่มีใครสนใจ


ไม่ว่าจะเป็นการขอความร่วมมือบริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอาหารทารกและเด็กเล็กไม่ให้ทำการโฆษณาและทำการตลาดสินค้าในทุกรูปแบบ
ห้ามพนักงานบริษัทติดต่อกับหญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัว ห้ามทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหญิงตั้งครรภ์ แม่ และครอบครัว
ซึ่งมองเผินๆ เหมือนว่าบริษัทนมเหล่านี้จะใส่ใจ เพราะไม่ย่างกรายเข้ามาในโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เข้าสังกัดเป็น
โรงพยาบาลสายใยรัก แต่กลับดิ้นไปหาช่องทางใหม่แทน อาทิ ไปที่ทำงาน โรงงาน สำนักงานประกันสังคมเขต ที่ว่าการอำเภอที่ไปแจ้งเกิด เป็นต้น


เพียงแค่มีความเห็นชอบจาก ครม. ให้เดินหน้าเรื่องกฎหมายฉบับนี้ต่อ ก็กลายเป็นว่า มีหลายเสียง ทั้งจากภาคเอกชนเอง ตลอดจน
บุคลากรทางการแพทย์ที่ออกมาแสดงความเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ออกจะ 'สุดโต่ง' เกินไป เพราะอย่างไรเสีย นมผง ก็ไม่ได้เป็นผู้ร้าย
ถึงกับทำให้ใครตาย


ซึ่งเรื่องนี้คุณหมอกรรณิการ์เอง ก็ยอมรับว่า ที่กล่าวอ้างมานั้นไม่ผิด เพียงแต่เธอและผู้ร่วมอุดมการณ์นมแม่ ออกจะเห็นประหลาดอยู่สักหน่อย

"สังคมเรามันแปลก เห็นสิ่งปกติเป็นเรื่องไม่ปกติ การให้นมแม่คือสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์เลยนะ แม่ไม่ได้ทำอะไรที่มันพิเศษ
หรือแปลกประหลาดเลย แต่สังคมกลับมองสิ่งที่เป็นของปลอม (Artificial) ว่าเป็นบรรทัดฐาน แทนที่จะเป็นสิ่งที่เป็น mom-made
นั่นคือความท้าทายที่เราต้องผ่านไปให้ได้ ต้องสร้างทัศนคติที่ถูกต้องให้กับแม่ และถ้าเราทำให้แม่เชื่อได้ว่า นมแม่ดี ต่อให้ลำบากยังไง
มันก็มีทางไปได้ แต่ตอนนี้สังคมเราอ่อนแอ เราก็มีหน้าที่ปกป้องแม่ลูกให้ได้รับสิทธิที่ควรจะได้" หมอกรรณิการ์ เอ่ย


แต่สำหรับข้อโจมตีของบางกลุ่มที่ออกมาบอกว่า ว่าที่กฎหมายที่ว่าด้วยการควบคุมการทำการตลาดของนมผงนั้น เป็นการ 'ลิดรอน'
สิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารนั้น.. คงต้องย้อนถามกลับไปสักหน่อยว่า ระหว่างสิทธิที่จะได้อยู่ในอ้อมอกแม่ของเด็ก กับ สิทธิที่จะได้รับข้อมูล
ที่ถูกคัดสรรแล้วของผู้ใหญ่ อะไรสำคัญกว่ากัน


... หรือแค่เพราะพูดไม่ได้ ทำได้แค่ร้องอ้อแอ้ แล้วจะแปลว่าไม่มีสิทธิ?

http://www.bangkokbiznews.com/mobile/xhtml/news/detail/07/509362/

เครดิต : เพจ ประเทศไทยต้องการกฎหมายห้ามโฆษณานมผสม

https://bit.ly/3aLwCri

 

 

Visitors: 96,519