ตัวเหลือง

ตัวเหลือง
อาการตัวเหลืองในเด็กเกิดจากการสะสมของสารบิลิรูบินในกระแสเลือด สารบิลิรูบินคือเม็ดสีสีเหลืองที่เกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุแล้ว การแตกตัวของเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุแล้วเป็นเรื่องปกติ และโดยทั่วไปสารบิลิรูบินที่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้เกิดอาการตัวเหลือง เพราะตับจะเผาผลาญมันและกำจัดออกทางลำไส้

แต่ทารกแรกคลอดมักจะตัวเหลืองในช่วงสองสามวันแรก เนื่องจากเอนไซม์ในตับซึ่งทำหน้าที่เผาผลาญบิลิรูบินยังไม่สมบูรณ์พอ นอกจากนี้ทารกแรกคลอดมีเม็ดเลือดแดงมากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นเม็ดเลือดแดงที่แตกตัวก็จะมีจำนวนมากกว่าด้วยเช่นกัน

กรณีที่ทารกคลอดก่อนกำหนด, มีความเครียดจากการคลอดที่ยากลำบาก, ทารกที่แม่เป็นโรคเบาหวาน, หรือมีเม็ดเลือดแดงเแตกตัวมากผิดปกติ (ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกรณีที่เลือดเข้ากันไม่ได้) ระดับของบิลิรูบินในเลือดก็อาจจะเพิ่มสูงเกินระดับปกติ

อาการตัวเหลืองในเด็ก ๒ ประเภท

ตับจะเปลี่ยนรูปบิลิรูบินเพื่อที่มันจะได้ถูกกำจัดออกจากร่างกายได้ บิลิรูบินที่เปลี่ยนรูปแล้ว เรียกว่า บิลิรูบินชนิดสังยุค (conjugated bilirubin)* ถ้าตับทำงานได้ไม่ดีพอ (ซึ่งมักจะเกิดในช่วงที่มีการติดเชื้อ) หรือท่อที่ลำเลียงบิลิรูบินไปยังลำไส้เกิดการอุดตัน บิลิรูบินที่เปลี่ยนรูปนี้ก็อาจสะสมอยู่ในกระแสเลือดและทำให้เกิดอาการตัวเหลือง เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น บิลิรูบินที่เปลี่ยนรูปจะออกมาทางปัสสาวะ และทำให้ปัสสาวะเป็นสีน้ำตาล ปัสสาวะสีน้ำตาลนี้เป็นสัญญาณสำคัญที่บอกว่าอาการตัวเหลืองไม่ “ปกติ”

อาการตัวเหลืองจากบิลิรูบินชนิดสังยุคมักจะเป็นสิ่งผิดปกติเสมอ บ่อยครั้งเป็นอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการวิเคราะห์อย่างละเอียดและเร่งด่วน นอกจากในกรณีที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระบวนการเผาผลาญอาหาร ซึ่งพบได้น้อยมาก คุณแม่สามารถให้ลูกกินนมแม่ได้และควรให้ลูกกินนมแม่ต่อไป

การสะสมของบิลิรูบินก่อนที่มันจะถูกเอนไซม์ในตับเปลี่ยนรูปไปอาจจะเป็นเรื่องปกติ สำหรับอาการตัวเหลืองแบบปกติ (physiologic jaundice)** บิลิรูบินก่อนถูกเปลี่ยนรูป เรียกว่า บิลิรูบินชนิดอสังยุค (unconjugated bilirubin) ***

อาการตัวเหลืองแบบปกติ จะเริ่มประมาณวันที่ ๒ และเป็นมากที่สุดในวันที่ ๓ หรือ ๔ หลังจากนั้นจะค่อย ๆ หายไป แต่ก็อาจจะมีสาเหตุอื่นที่ทำให้อาการตัวเหลืองชนิดนี้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่เนื่องจากสาเหตุเหล่านั้นไม่มีความสัมพันธ์กับการให้ลูกกินนมแม่ คุณแม่จึงควรให้ลูกกินนมแม่ต่อไป หรือถ้าทารกมีอาการตัวเหลืองขั้นรุนแรงเนื่องจากการแตกตัวอย่างรวดเร็วของเม็ดเลือดแดง ก็ไม่ใช่สาเหตุที่จะงดนมแม่ คุณแม่ควรให้ลูกกินนมแม่ต่อไปในสถานการณ์เช่นนี้

อาการตัวเหลืองจากนมแม่

มีอาการตัวเหลืองอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันทั่วไปว่า ตัวเหลืองจากนมแม่ ไม่มีใครรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุของอาการตัวเหลืองจากนมแม่ การวินิจฉัยอาการตัวเหลืองชนิดนี้ ทารกควรมีอายุอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ แต่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจว่า ทารกที่มีอาการตัวเหลืองจากนมแม่จำนวนมาก มักจะมีอาการตัวเหลืองแบบปกติร่วมด้วย

ทารกควรจะน้ำหนักเพิ่มขึ้นดีด้วยการกินนมแม่ล้วน ๆ ถ่ายอุจจาระบ่อยและมีปริมาณมาก ปัสสาวะเป็นสีใส และโดยทั่วไปมีสุขภาพดี ในสถานการณ์เช่นนี้ทารกมีอาการที่บางคนเรียกว่า ตัวเหลืองจากนมแม่ ถึงแม้ว่าบางครั้งการติดเชื้อของปัสสาวะ หรือต่อมไทรอยด์ของทารกทำงานน้อยผิดปกติ รวมถึงโรคบางชนิดที่พบได้ยากมาก ก็อาจทำให้เกิดอาการแบบเดียวกันได้

อาการตัวเหลืองจากนมแม่จะเป็นมากที่สุดตอนอายุ ๑๐-๒๑ วัน แต่ก็อาจจะเป็นต่อไปนาน ๒ หรือ ๓ เดือนได้ อาการตัวเหลืองจากนมแม่เป็นเรื่องปกติ แทบไม่มีกรณีใดเลยที่จำเป็นต้องหยุดให้ลูกกินนมแม่ แม้แค่ช่วงเวลาสั้น ๆ มีบางกรณีเท่านั้นที่ทารกจำเป็นต้องได้รับการรักษาอื่น ๆ เช่น การส่องไฟ และไม่มีหลักฐานใด ๆ เลยที่แสดงว่าอาการตัวเหลืองจากนมแม่จะเป็นปัญหากับทารก
.
คุณแม่ไม่ควรหยุดการให้ลูกกินนมแม่ “เพื่อทำการวินิจฉัยโรค” ถ้าทารกสามารถกินนมจากอกแม่ได้ดี ก็ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะหยุดให้ลูกกินนมแม่ หรือให้นมเสริมด้วยอุปกรณ์เสริมการให้นม (lactation aid)

ความเชื่อที่ว่า ทารกที่มีอาการตัวเหลืองมีความผิดปกติ มาจากสมมติฐานที่เชื่อว่า ทารกกินนมผสมคือมาตรฐานที่เราควรใช้วัดว่าทารกกินนมแม่ควรเป็นอย่างไร วิธีการคิดเช่นนี้แทบจะเป็นมาตรฐานสากลในหมู่เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ แต่เป็นการใช้ตรรกะผิดด้าน เนื่องจากทารกที่กินนมผสมแทบจะไม่มีอาการตัวเหลืองเลยในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด และถ้าทารกมีอาการตัวเหลืองขึ้นมา ก็มักจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับเขา ดังนั้นทารกที่ตัวเหลืองชนิดที่เรียกกันว่าตัวเหลืองจากนมแม่ จึงเป็นกลายเป็นเรื่องน่ากังวล และ “ต้องทำอะไรสักอย่าง”

อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ของเรา ทารกกินนมแม่ล้วน ๆ ที่มีสุขภาพดีเยี่ยม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ดี ส่วนใหญ่ก็ยังมีอาการตัวเหลืองตอนอายุห้าหกสัปดาห์หรืออาจจะนานกว่านั้นด้วยซ้ำ

ความจริงแล้ว คำถามที่พวกเราควรจะถามกันคือ มันเป็นเรื่องปกติหรือเปล่าที่ทารกจะไม่มีอาการตัวเหลือง และการที่เด็กไม่มีอาการตัวเหลืองนั้นควรเป็นสิ่งที่เราจะกังวลหรือเปล่าต่างหาก อย่าหยุดให้ลูกกินนมแม่ เพราะลูกมีอาการตัวเหลืองจากนมแม่

ตัวเหลืองเพราะกินนมแม่ไม่พอ

ระดับของบิลิรูบินที่สูงผิดปกติ หรือ อาการตัวเหลืองที่เกิดนานผิดปกติ อาจจะเกิดขึ้นได้ถ้าทารกได้รับนมไม่พอ นี่อาจจะเป็นเพราะน้ำนมแม่ที่จะใช้เวลานานกว่าปกติกว่าที่จะมาได้เต็มที่ (แต่ถ้าทารกกินนมได้ดีในช่วงวันแรก ๆ กรณีนี้ก็ไม่ควรจะเป็นปัญหา) หรือเพราะโรงพยาบาลจำกัดช่วงเวลาหรือความถี่ในการให้ลูกกินนมแม่ หรือทารกไม่สามารถงับหัวนมได้ดีพอ จึงไม่สามารถกินนมแม่ที่มีอยู่ได้พอ (ดู “ลูกกินนมพอหรือไม่”)

ถ้าทารกได้กินนมน้อย ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการขับถ่ายออกมาน้อยไปด้วย บิลิรูบินที่อยู่ในลำไส้ของทารกก็จะถูกดูดซึมกลับเข้าไปในกระแสเลือด แทนที่จะถูกกำจัดออกจากร่างกายพร้อมกับของเสียที่ถูกขับถ่ายออกมา จะเห็นได้ชัดว่ามาตรการที่ดีที่สุดสำหรับอาการตัวเหลืองเพราะกินนมแม่ไม่พอ ก็คือการเริ่มให้ลูกกินนมแม่อย่างถูกวิธี

อยากไรก็ตาม แน่นอนว่ามาตรการแรกสำหรับอาการตัวเหลืองเพราะกินนมแม่ไม่พอ ก็คือการไม่หยุดให้ลูกกินนมแม่ หรือการไม่ยอมให้ทารกกินนมผสม และถ้าทารกสามารถกินนมแม่ได้ดี การให้ทารกกินนมแม่บ่อยขึ้นอาจจะเพียงพอที่จะทำให้สารบิลิรูบินลดระดับลงได้เร็วขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องทำอะไร

แต่ถ้าทารกกินนมแม่ได้ไม่ดี การช่วยให้ทารกสามารถงับหัวนมได้ดีขึ้น อาจจะทำให้เขาดูดนมจากอกแม่ได้ดีขึ้น และกินนมแม่ได้มากขึ้น การบีบหน้าอกเพื่อให้ได้น้ำนมมากขึ้นก็อาจจะช่วยได้เช่นกัน แต่ถ้าการช่วยงับหัวนมและการบีบหน้าอกไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็อาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริมการให้นมกับทารก เพิ่มเติมจากการกินนมจากอกแม่

การส่องไฟ

การส่องไฟจะช่วยเพิ่มความต้องการของเหลวของทารก ถ้าทารกกินนมแม่ได้ดี การให้ทารกกินนมบ่อยครั้งขึ้นจะช่วยเติมเต็มความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดว่าทารกต้องการของเหลวเพิ่มขึ้น ควรใช้อุปกรณ์เสริมการให้นมเสริมจากการกินนมจากอกแม่ โดยใช้น้ำนมแม่ที่บีบออกมา หรือนมแม่ที่บีบออกมาเติมด้วยน้ำผสมน้ำตาล หรือน้ำผสมน้ำตาลอย่างเดียว แทนที่จะใช้นมผสม

*บิลิรูบินชนิดสังยุค (conjugated bilirubin) หรือบิลิรูบินชนิดทำปฏิกริยาโดยตรง (direct reacting bilirubin) หรือบิลิรูบินชนิดละลายในน้ำ (water soluble bilirubin) ชื่อทั้งสามนี้คือสิ่งเดียวกัน

**physiologic jaundice อาการตัวเหลืองแบบไม่มีพยาธิสภาพ

***บิลิรูบินชนิดอสังยุค (unconjugated bilirubin) บิลิรูบินชนิดทำปฏิกริยาโดยอ้อม (indirect reacting bilirubin) หรือบิลิรูบินชนิดละลายในไขมัน (fat soluble bilirubin)
-----------------------------------------------------
Written and Revised by Jack Newman, MD, FRCPC 1995-2005
Revised May 2008
แปลโดย คุณนิจวรรณ ตั้งวิรุฬห์

Visitors: 94,899