นมแม่ 110 : คลอดแบบไหน คือ Best Start สำหรับลูก

 

วันนี้จะมาชวนคุยเรื่องวิธีการคลอดซึ่งเป็นจุด start ที่สำคัญสำหรับคุณแม่ที่ตั้งใจจะเดินไปในเส้นทางสายนมแม่กันค่ะ

โดยปกติ เมื่อคุณแม่ทราบว่าตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ก็จะเริ่มจากการเลือกหมอ และโรงพยาบาลที่จะฝากครรภ์ หลังจากนั้นก็ค่อยมาเลือกว่าจะผ่าตัดคลอดหรือคลอดธรรมธรรมชาติดี

ในช่วงแรก การเลือกว่าจะคลอดเองหรือผ่าตัดคลอดจะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ด่วน เพราะยังมีเวลาให้ตัดสินใจอีกหลายเดือน ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านไม่ได้ตระหนักว่า เรื่องสำคัญที่ไม่ด่วนนี้หากเราไม่ตัดสินใจให้ดี สุดท้ายมันอาจจะส่งผลให้เกิดเรื่องที่ด่วนและสำคัญตามมาอย่างคาดไม่ถึง

จากสถิติของ WHO ระบุว่าอัตราการผ่าคลอดจะอยู่ที่ราวๆ 10-15% ของการคลอดทั้งหมด แต่ในบ้านเรา อัตราการผ่าคลอดในโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่จะสูงถึง 80-90% สรุปว่าว่าการผ่าตัดคลอดซึ่งควรจะเป็นแผนสำรองในการคลอด กลายมาเป็นแผนหลักแทนการคลอดธรรมชาติ

แล้วก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่อัตราความล้มเหลวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบ้านเราก็สอดคล้องกับอัตราการผ่าตัดคลอดด้วยเช่นกัน ปัจจุบันนี้คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนได้ครบ 6 เดือนนั้นมีอยู่ราวๆ 20% เท่านั้นเอง ยิ่งผ่าตัดคลอดเยอะขึ้น ยิ่งเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้น้อยลง

ในอดีตผู้ที่จะเป็นคนตัดสินใจว่าจะคลอดวันไหน เวลาใดคือลูกในท้องของเรา เขาพร้อมเมื่อไหร่ เขาจะบอกเองด้วยสัญญาณต่างๆ เช่น ท้องแข็ง มดลูกหดรัดตัว เจ็บท้องคลอด มีมูกหรือน้ำเดิน เมื่อปากมดลูกเปิดได้ที่ คุณแม่ก็จะคลอดลูกออกทางช่องคลอดได้ตามธรรมชาติ

แต่ทุกวันนี้เรามีวิทยาการมากขึ้น สามารถผ่าตัดเพื่อให้ทารกออกมาทางหน้าท้องได้ ลูกในท้องจึงถูกคุณพ่อคุณแม่และคุณหมอยึดอำนาจการตัดสินใจไปโดยปริยาย เมื่อทุกคนร่วมกันตัดสินใจโดยไม่ได้ถามความสมัครใจของลูกในท้อง ผลที่เกิดขึ้นตามมาจึงไม่ยากที่จะคาดเดา

ลูกในท้องต้องการเวลาอยู่ในท้องอย่างเหมาะสมเพื่อที่จะพัฒนาอวัยวะต่างๆ ให้เจริญเติบโตเต็มที่และแข็งแรงพร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอก ตอนที่อยู่ในท้องแม่ เขาอยู่ในสภาพปลอดเชื้อและปลอดภัย อุณหภูมิ ได้รับอาหารและอากาศผ่านรก เมื่อออกมาภายนอกเขาต้องหายใจด้วยปอดของตัวเอง ต้องเรียนรู้ที่จะดูดและกลืนเพื่อรับอาหารทางปาก ผิวหนังต้องปรับอุณหภูมิเอง ไตต้องทำหน้าที่ขับของเสีย ระบบภูมิคุ้มกันต้องเริ่มทำงาน

เมื่อเราบังคับให้เขาออกมาก่อนเวลาที่เหมาะสม อวัยวะต่างๆ ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่พร้อมทำหน้าที่ เขาก็จะต้องการความช่วยเหลือและการดูแลเป็นพิเศษ ถ้าคลอดก่อนกำหนดนานๆ สิ่งเหล่านี้จะเห็นได้ชัดเจน เช่น หายใจเองไม่ได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ กินเองไม่ได้ ต้องให้อาหารทางสาย ต้องอยู่ใน NICU

แต่ทารกที่คลอดด้วยการผ่าตัดคลอด ตามเวลาที่กำหนดจากความสะดวกของคุณพ่อคุณแม่หรือคุณหมอ อาจจะออกมาแล้วดูปกติดี น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่ความเป็นจริงแล้ว เขายังไม่พร้อมเต็มร้อยที่จะออกมา อาการที่เราพบเห็นได้บ่อยก็คือ หายใจเร็ว หรือติดหลับตลอดเวลา ไม่มีแรงดูดนม ดูดไม่มีประสิทธิภาพ ดูดไม่ได้น้ำนม ตับก็ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะกำจัดบิลิรูบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ตัวเหลืองตามมา ซึ่งทำให้เขาต้องการการดูแลเพิ่มขึ้น

ไม่เพียงลูกเท่านั้นที่ไม่พร้อม ร่างกายคุณแม่เองก็ไม่พร้อมเช่นกัน ลองนึกถึงการวิ่งผลัดนะคะ ช่วงจังหวะที่นักวิ่งคนแรกจะต้องส่งไม้ต่อให้คนที่สอง เราต้องการจังหวะที่เหมาะสม ถ้าคนแรกส่งไม่พอดี คนรับรับไม่ดี จะทำให้เสียจังหวะ และทำให้โอกาสชนะแทบไม่มี 

ในสภาวะปกติ ทันทีที่คลอด ฮอร์โมนของการตั้งครรภ์จะลด ในขณะที่ฮอร์โมนของการผลิตน้ำนมจะเพิ่มเพื่อรับไม้ต่อ เปรียบเหมือนธรรมชาติกำหนดตารางการทำงานไว้แล้ว การผ่าตัดคลอดตามใจเรา คือการไม่สนใจตารางเดิมที่ธรรมชาติกำหนด ฮอร์โมนในการผลิตน้ำนมยังไม่พร้อม เราเอาเขาออกมาก่อน ทำให้เราพบบ่อยๆ ว่าคุณแม่จำนวนมาก นมมาช้า มาน้อย ไม่ทันกับความต้องการของลูก

เมื่อพบว่านมคุณแม่มาช้า คุณหมอที่ไม่ได้มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาเรื่องนมแม่ ก็มักจะแก้ปัญหาด้วยการเสริมนมผงด้วยเหตุผลว่าน้ำหนักลดบ้าง ไม่อยากให้ตัวเหลืองบ้าง พอเสริมนมผง เต้านมแม่จะไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสม ก็เหมือนโรงงานที่ไม่ได้รับออเดอร์  ไม่ได้รับการอนุมัติให้เดินเครื่องผลิต ร่างกายคุณแม่ก็จะไม่ยอมผลิตน้ำนม หรือผลิตได้น้อย

พอถึงเวลาที่ลูกออกจากรพ.กลับบ้าน แม้ว่าคุณแม่จะพยายามเอาลูกเข้าเต้า แต่ร่างกายที่ไม่พร้อม ผลิตน้ำนมได้น้อย เวลาที่ลูกดูดก็ได้นมน้อย พอได้นมน้อยก็ไม่มีแรงดูด งั้นหลับดีกว่า สงวนพลังงานเอาไว้ คนที่แรกคลอดไม่เหลือง อาจจะกลับมาเหลืองที่บ้านเพราะได้นมไม่พอ ถ้ารอบแรกแม่ผ่านด่านมาได้โดยไม่ได้เสริมนมผง พอเหลืองคราวนี้ คุณหมอก็จะมีเหตุผลหนักแน่นแล้วว่า ต้องเสริมนมผงแล้วนะ

ถึงจังหวะนี้ คุณแม่ที่มุ่งมั่น อาจจะเลือกกลับมาปั๊มนมจริงจัง ถ้าได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ใช้เครื่องปั๊มนมที่เหมาะสม มีวินัยในการปั๊ม คุณแม่ก็สามารถกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนได้ต่อไป บางคนอาจจะเอาลูกกลับมาเข้าเต้าได้ด้วย แต่บางคนก็กลายเป็นคุณแม่ปั๊มล้วนไปเลย ทำให้ต้องเสียโอกาสในการให้ลูกเข้าเต้า

ในเคสที่โชคร้าย คุณแม่บางท่านอาจจะได้รับคำแนะนำผิดๆ ว่าไม่ควรปั๊มนม ให้ลูกเข้าเต้าดีที่สุด แต่คุณแม่ไม่รู้เลยว่าที่ลูกเข้าเต้าตลอดทุกมื้อ แล้วก็หลับ ดูเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายนั้น แท้จริงเขาไม่ได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอ รู้ตัวอีกทีคือ หลายสัปดาห์ผ่านไป  น้ำหนักไม่ขึ้น จากที่เคยเข้าเต้าก็ต้องมากลับลำป้อนขวด เสริมนมผง เพื่อทำน้ำหนัก แม่ก็ต้องกลับไปปั๊มนม ถ้าเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ใช้เครื่องปั๊มนมที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ทำให้เต้านมบาดเจ็บ ปั๊มนมไม่ออก กู้นมไม่สำเร็จ สุดท้ายต้องให้นมผง แม่ก็จะเครียด รู้สึกผิด โทษตัวเองว่าเป็นแม่ที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของคุณแม่เลย

พอเห็นภาพไหมคะว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงล้มเหลวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุณแม่ที่เข้ามาปรึกษาโค้ชที่ร้าน มักจะพูดเหมือนๆ กันว่า ไม่เคยคิดเลยว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มันจะยากขนาดนี้ ทุกคนคิดว่าการให้นมลูกเป็นเรื่องธรรมชาติ แค่มีความตั้งใจ เดี๋ยวก็ทำได้เอง

หลังจากเห็นเส้นทางทุรกันดารของนมแม่ที่เริ่มจากการผ่าคลอดไปแล้ว เรามาดูเส้นทางที่สบายกว่ากันเยอะของการคลอดธรรมชาติดีกว่าค่ะ

ถ้าคุณแม่เลือกคลอดธรรมชาติ ในเวลาที่ลูกพร้อม โดยไม่ใช่การเร่งคลอด ร่างกายคุณแม่และลูกจะทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอวัยวะและระบบต่างๆ ของลูกจะอยู่ในสภาพที่พร้อมทำงานอย่างสมบูรณ์ ร่างกายคุณแม่ก็จะมีการปรับฮอร์โมนต่างๆ เพื่อรองรับการที่ลูกจะออกจากมดลูกของคุณแม่ไปสู่โลกภายนอก เหมือนการวิ่งผลัดที่ซ้อมกันมาอย่างดี ฮอร์โมนของการตั้งครรภ์จะลดลง ต่อด้วยการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนที่ช่วยในการผลิตและหลั่งน้ำนม

การคลอดธรรมชาติ จะช่วยให้ลูกมาเข้าเต้าได้ไว  Suckling Reflex หรือแรงกระตุ้นในการดูด จะแรงและเร็วในช่วงแรกคลอด ทำให้การกระตุ้นเต้านมมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ลูกได้รับ Colostrum หรือหัวน้ำนมเหลืองแรกคลอดได้ทันที  ลูกจะไม่ได้รับผลข้างเคียงจากยาระงับปวดของการผ่าตัดซึ่งอาจทำให้มีปัญหากับการเข้าเต้า ไม่ได้รับสารน้ำส่วนเกินจากแม่ที่ทำให้ลูกน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วหลังคลอด ซึ่งกลายเป็นข้อบ่งชี้หลอกให้เสริมนมผง เต้านมและหัวนมของคุณแม่ก็จะไม่บวมตึงจากน้ำเกลือเหมือนการผ่าตัดคลอด ทำให้ลูกเข้าเต้าได้ง่ายกว่า คุณแม่เองก็จะไม่เจ็บแผลที่หน้าท้องเวลาที่ลูกเข้าเต้า สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างสะดวก ไม่อ่อนเพลียจากการเสียเลือดในระหว่างผ่าตัด มีแรงที่จะเลี้ยงลูกมากกว่าคุณแม่ที่ผ่าคลอด

เมื่อลูกคลอดออกมาในเวลาที่พร้อม อวัยวะและระบบต่างๆ จะทำงานได้อย่างสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง เขาจะเข้าเต้าได้ดี มีประสิทธิภาพ ช่วยกระตุ้นให้คุณแม่นมมาไว มาเยอะ และไม่ต้องเครียด กลัวนมไม่พอ ทุกอย่างจะเริ่ดเลอเพอร์เฟ็คท์อย่างที่คุณแม่ต้องการเลยค่ะ

ความลำบากมีอยู่ประการเดียว คือ การกำหนดเวลาไม่ได้ค่ะ ต้องให้ลูกเป็นคนกำหนด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วนะคะ

ทุกวันนี้เราถูกหลอกว่านมผงดีพอๆ กับนมแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมผงเป็นเรื่องปกติ การคลอดลูกก็เช่นกัน เราถูกหลอกโดยไม่รู้ตัวว่าการผ่าตัดคลอดเป็นเรื่องปกติ สะดวก ปลอดภัยและไม่เจ็บ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วการผ่าตัดคลอดนั้นเจ็บกว่าการคลอดเองมากๆ

การคลอดเองในเวลาที่ลูกเป็นคนเลือก โดยไม่ใช้ยาเร่งคลอดนั้น ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่ทุกคนโดนหลอก ความเจ็บหรือระยะเวลาที่เจ็บก็น้อยกว่าการผ่าตัดคลอดมาก

เวลาที่คลอดเอง ช่องคลอดฉีกขาดตามธรรมชาติ แต่การผ่าตัดคลอดคือการกรีดเปิดหน้าท้องและกรีดมดลูกให้เกิดแผล แม้ว่าเราจะไม่รู้สึกเจ็บในขณะผ่า แต่หลังจากผ่า และยาระงับปวดหมดฤทธิ์ เราจะเจ็บมากๆ และเจ็บนานหลายวัน การเดิน การเคลื่อนไหวต่างๆ จะทำให้เจ็บตลอดเวลา ยังไม่นับว่าอาจมีผลแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาระงับปวดในระหว่างผ่าตัดอีกด้วย

เพราะฉะนั้นคุณแม่ท่านใดที่ยิ่งกลัวเจ็บ ยิ่งต้องคลอดเองมากกว่าผ่าตัดคลอดนะคะ

ปิดท้ายด้วยงานวิจัยถึงผลกระทบของการผ่าตัดคลอดที่มีต่อลูกน้อยกันค่ะ

  • นอร์เวย์ มีการศึกษาในเด็กแรกเกิดถึงอายุ2.5 ปี ที่มีปัญหาแพ้นมวัว 2,600 คน พบว่าเด็กที่ได้รับการผ่าตัดคลอดมีอัตราการเป็นโรคแพ้นมวัวมากกว่าเด็กที่คลอดทางช่องคลอดถึง 3.3 เท่า และถ้าตัวคุณแม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ด้วยอัตราการแพ้นมวัวของลูกก็จะมากขึ้นเป็น 9.7 เท่าเลยทีเดียว
  • ที่ไต้หวัน   มีการศึกษาในเด็กอายุ1 เดือนและ1 ปี ที่ต้องรับไว้ในโรงพยาบาลหลายหมื่นคนด้วยโรคติดเชื้อ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคระบบทางเดินอาหาร เมื่อศึกษาถึงประวัติการคลอด พบว่าเด็กที่คลอดโดยการผ่าตัดคลอด มีอัตราการเจ็บป่วยมากกว่าเด็กที่คลอดทางช่องคลอด 3-4 เท่า 
  • ที่สหรัฐอเมริกา มีการศึกษาในเด็กอายุ 3-10 ปี ที่เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ทั้งโรคภูมิแพ้ของจมูกและตา รวมทั้งหอบหืด 7,800 คน พบว่าเด็กที่ผ่าตัดคลอด มีอัตราการเกิดโรคมากกว่าเด็กที่คลอดทางช่องคลอด ประมาณ 1.2 เท่า 
  • พบว่าทารกที่คลอดโดยการผ่าคลอดก่อนอายุครบ 39 สัปดาห์ มักมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เกิดภาวะหายใจเร็วใน 2-3 วันแรกที่คลอด หรือภาวะกดการหายใจในทารกแรกคลอดที่จะทำให้เด็กหายใจลำบาก

คุณพ่อคุณแม่คงจะได้คำตอบแล้วนะคะว่าคลอดแบบไหน คือ Best Start สำหรับลูก

 

นมแม่เดอะซีรีย์ วิชานมแม่
วิชาที่ไม่มีที่ไหนสอน อยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
อยากให้ลูกได้เติบโตแข็งแรง อยากเริ่มต้นเป็นแม่ที่มีอยู่จริง
โค้ชนมแม่ และ Ardo Thailand
ชวนคุณแม่ ที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป
มาฟังเรื่องราวของนมแม่ ในนมแม่เดอะซีรีย์
เพื่อเตรียมตัวเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างมีความสุข
ในแบบฉบับที่คุณแม่เลือกค่ะ
 
#นมแม่เดอะซีรีย์
ออกอากาศทุกวันพุธและวันเสาร์
ติดตามตอนใหม่ได้ที่
----------------------------
 
สนับสนุนโดย Ardo ผลิตภัณฑ์เพื่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างมีความสุข จาก Switzerland
 
เตรียมตัวเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างมีความสุข ลงทะเบียนเพื่อทำความรู้จักกับ ARDO และบริการ Carum Colostrum Care ให้มากขึ้น
-------------------------
 
นมน้อย นมไม่พอ ปั๊มไม่ออก ปั๊มแล้วเจ็บ ปรึกษาปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการเลือกเครื่องปั๊มนมกับโค้ชนมแม่มืออาชีพ ประสบการณ์กว่า 14 ปี ช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก
 
รีวิวเครื่องปั๊มนมทุกรุ่น http://bit.ly/2NZGlB6
 
สนใจทดลองเครื่องปั๊มนม คลิก http://fb.me/nommaeshop
 
ลงทะเบียนเข้ารับบริการที่ศูนย์ ที่บ้าน
หรือปรึกษาโค้ชนมแม่ผู้เชี่ยวชาญทางโทรศัพท์
 
#ครอบครัวนมแม่ #HappymothersHappybabies #ร้านนมแม่ #โค้ชนมแม่ #เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ #เครื่องปั๊มนม #ปั๊มนม #นมแม่ #ร้านนมแม่ #โค้ชนมแม่ #ARDO
Visitors: 94,902