ลูกไม่ยอมเข้าเต้า Nursing Strike

อยู่ๆ ลูกก็ไม่ยอมกินนม หรือ Nursing strike 
 

คุณแม่ที่ให้ลูกเข้าเต้ามาดีๆ แตาอยู่มาวันนึง ลูกก็ออกอาการงอแง ไม่ยอมเข้าเต้าเสียดื้อๆ อาการปฏิเสธเต้าแบบนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Nursing Strike ค่ะ ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ อาการแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้ชั่วคราวค่ะ เรามาลองดูถึงสาเหตุและวิธีแก้กันนะคะ

 
1) สาเหตุจากร่างกาย ได้แก่ หูอักเสบ เป็นหวัด หรืออื่นๆ กรดไหลย้อนทำให้กินนมแล้วปวดท้อง นมเยอะไปทำให้นมพุ่ง แพ้อาหารหรือไวต่ออาหารหรือยาที่แม่กิน มีความเจ็บปวดจากอุบัติเหตุเล็กๆ หรือไปหาหมอมา ไปฉีดวัคซีนมา เจ็บปากจากฟันขึ้น เชื้อราในปาก แผลในปาก แพ้หรือไวต่อสารเคมีเช่น น้ำยาดับกลิ่นตัว โลชั่น นำ้ยาซักผ้า
 
2) สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เครียด หงุดหงิด หรือได้รับการกระตุ้นมากเกินไป ให้นมตามตารางมากไป จับเวลาในการให้นมบ่อยๆ หรือมีการรบกวนการให้นมบ่อยๆ โดนปล่อยให้ร้องนานไป มีการเปลี่ยนแปลงตารางชีวิต เช่น เพิ่งเดินทางไกล ย้ายบ้าน แม่กลับไปทำงาน มีการตะโกนเสียงดังตอนให้นม ลูกกัดนมแล้วแม่ดุด่าแรงๆ การแยกแม่และลูกจากกันนานๆ
 
 
วิธีการแก้ไข Nursing strike รวมไปถึงอาการ "ติดจุก"
 
1) ทำให้การกินนมเป็นเรื่องที่มีความสุข ถ้าลูกไม่อยากกินนมจากเต้า หาวิธีอี่นให้ลูกได้กินอย่างมีความสุข และเอาลูกมากอดที่หน้าอกเราอย่างมีความสุขเวลาอื่น ชวนคุย เล่น หัวเราะ จ้องตากัน ทำให้ช่วงเวลา ที่อยู่ด้วยกันตรงนั้นมีความสุข และเวลาป้อนด้วยวิธีอื่นก็ทำให้มันเฉยๆ ไป (ไม่ต้องบิ๊ลท์มาก) ถ้าลูกนอนหลับ ก็เอาลูกมากอดตรงหน้าอกจะได้ได้กลิ่นแม่บ่อยๆ อาจช่วยลดเวลาการเกิด nursing strike ได้
 
2) ใช้เวลาอยู่ด้วยกันแบบเนื้อแนบเนื้อบ่อยๆ เวลาที่ไม่ได้ป้อนนมหรือให้นม ให้อุ้มลูกโดยถอดเสื้อลูกและแม่ออกและกอดกันให้นานที่สุด วิธีนี้จะทำให้ผ่อนคลายทั้งแม่และลูก ฮอร์โมนที่คุณแม่หลั่งออกมาจากความผ่อนคลายและความรักนั้นจะทำให้ลูกยอมรับ การดูดนมจากเต้ามากขึ้น ถ้าจำเป็นก็ห่มผ้าปิดนอนไปด้วยกัน อาบน้ำด้วยกัน ใส่สลิงหรือเป้อุ้มลูกเพื่อจะได้อุ้มกันไปทั้งวัน
 
3) ให้กินเต้าเวลาลูกง่วงๆ หรือเพิ่งหลับไปไม่นาน เด็กบางคนยอมรับเต้าอีกคร้งตอนที่ง่วงๆ ผ่อนคลาย ลองให้นมตอนที่ลูกนอนหลับกลางวัน ใช้ท่าเข้าเต้าที่ลูกชอบที่สุด หรือลองท่าอื่นๆ เผื่อจะชอบมากกว่า ท่าที่อาจได้ผลดีคือ แม่นอนเอียงๆหลัง ลูกวางบนตัวแม่ ท้องชนท้อง ให้ลูกกินจากเต้าท่านี้และให้นอนหลับไปด้วยกัน
 
4) กระตุ้นให้นมไหลทันทีเวลาลูกเข้าเต้า ปั๊มก่อนที่จะให้เข้าเต้า ลูกจะได้ไม่ต้องปั่นจี๊ดเอง หรือบีบนมใส่ริมฝีปากลูก ถ้าลูกยอมกินจากเต้าแต่อยู่ไม่นาน ให้หาคนช่วยหลดนมลงที่เต้านมหรือที่มุมปากด้วยช้อน หรือไซริงจ์ เพื่อกระตุ้นการดูดและกลืน ทำซ้ำอีกถ้าลูกจะออกจากเต้าอีก
 
5) บีบเต้านม จัดรูปหัวนมให้ง่ายต่อการเอาเข้าปากลูก อาจทำให้ลูกดูดได้ลานนมมากขึ้น หรือ เดินให้นม เพราะเด็กบางคนก็ชอบกินนมตอนที่ได้รับการแกว่งตัวไปมา เช่นตอนคุณแม่เดิน หรือโยกตัว ถ้าลองนอนเอนให้นมแล้วไม่เวิร์ค ลองเดินให้นมดู
 
6) พยายามให้นมตอนที่ลูกไม่โมโหร้องไห้ฉุนเฉียวอยู่ เด็กจะกินนมได้ดีต้องรู้สึกสงบ สบาย ไม่ใช่ตอนหิวและเครียด ถ้าลูกดูหงุดหงิด ปลอบลูกเสียก่อน เด็กบางคนจะยอมกินเต้าถ้าไม่หิวมาก ดังนั้น อาจลองป้อนนมนิดหน่อยก่อนด้วยวิธีใดก็ตามที่เหมาะสม ให้สัก 1/2 หรือ 1/3 ของปริมาณที่จะกิน แล้วค่อยลองให้เต้า
 
7) เมื่อลูกเข้าเต้าได้ดีขึ้น ให้ใช้เวลาตรงนั้นให้ดีที่สุด ปล่อยให้ลูกกินเองจนกว่าจะปล่อยจากเต้า ให้เต้าซ้ำอีกครั้งโดยเร็ว อย่ารอให้หิวอีก
ถ้าลูกกินจากขวดแต่ไม่กินจากเต้า ลองใช้วิธีสับขาหลอก โดยเริ่มจากให้นขวดนมในท่าให้นมปกติ เมื่อลูกเริ่มดูดดีและกลืนนม เอาขวดนมออกแล้วจับหัวนมแม่ใส่ปากแทน เด็กบางคนก็ยอมดูดต่อโดยดี
 
9) ใช้อุปกรณ์ช่วยให้นม ซึ่งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือที่คลินิกนมแม่เรื่องการใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสม เช่น ปทุมแก้ว (nipple shield) ทำจากยางซิลิโคน ในรายที่ติดจุก อาจช่วยให้ลูกกลับมาดูดเต้าได้
 
อีกอย่างที่เป็นอุปกรณ์ช่วยที่สำคัญ คือ อุปกรณ์เสริมนมที่เต้า (At-breast supplementer) อุปกรณ์พวกนี้จะให้นมที่เต้าผ่านทางสายยางเล็กๆ ที่ติดอยู่กับขวดใส่นม อาจช่วยได้กรณีที่นมจากเต้าไหลช้า ถ้านมจากเต้าไหลเร็วและดี วิธีนี้จะไม่ช่วย
 
ถ้าวิธีการทั้งหมดนี้ไม่ช่วยให้ดีขึ้น คุณแม่ต้องหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวขาญ บางครั้งวิธีที่ทำอยู่อาจจะเกือบใช้ได้แล้ว แค่ต้องปรับเล็กน้อย หรือใช้อุปกรณ์ช่วยบ้าง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญการให้นมแม่ และพยาบาลคลินิกนมแม่จะช่วยเหลือคุณแม่ได้
 
“การให้นมแม่จากเต้าเป็นวิธีการปกติธรรมชาติ ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นแทบทุกอย่างจะมีวิธีแก้ไขได้ อยู่ที่ว่าหาทางแก้อย่างไร แม้ว่าตอนนี้การให้นมจากเต้าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคุณแม่ แต่ด้วยความอดทน ให้เวลากับการแก้ปัญหา และการได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจะทำให้คุณแม่ให้นมจากเต้าได้อีก ครั้งหนึ่ง"
 
 
Visitors: 94,984