ปั๊มมือ ปั๊มคันโยก ปั๊มไฟฟ้า แบบไหนดีกว่ากัน

ตอบทุกคำถาม FAQ - บีบมือ vs ปั๊มมือ vs ปั๊มไฟฟ้า

 

สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาจจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือกที่ปั๊มนม หรือเครื่องปั๊มนมว่าควรจะเลือกแบบไหน อย่างไรดี ระหว่างปั๊มไฟฟ้า ปั๊มมือ หรือปั๊มมือคันโยก แบบไหนถึงจะเหมาะ วันนี้แอดมินจะมาเคลียร์เต้า เอ๊ย เคลียร์คำถามคาใจให้กับคุณแม่กันค่ะ

 

การบีบมือก็เหมือนการเดิน ถ้าระยะทางใกล้ๆ เดินก็สะดวก ปั๊มมือก็เหมือนจักรยาน ไปได้ไกลอีกนิด สะดวกกว่าบีบมือ แต่ถ้าต้องใช้บ่อยๆ ก็เมื่อยอยู่ดี ปั๊มไฟฟ้าเดี่ยวก็เหมือนมอเตอร์ไซค์ ไวกว่าจักรยาน แต่ถ้าต้องไปไกลๆ ก็ไม่สะดวกเท่าปั๊มคู่ไฟฟ้า 

 

ปั๊มมือต่างกับปั๊มไฟฟ้าอย่างไร

 

ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ ปั๊มมือทำงานด้วยการใช้แรงจากมือเรา (สมัยก่อนมีแรงเท้าด้วยนะคะ คือใช้เท้าเหยียบแทนโยกด้วยมือ) ส่วนปั๊มไฟฟ้าทำงานด้วยพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหรือไฟบ้านนั่นเอง เพราะฉะนั้นการใช้ปั๊มมือก็จะทำให้เรารู้สึกเมื่อยมากกว่าปั๊มไฟฟ้า แต่มีข้อดีคือ เราควบคุมแรงดูดและความเร็วได้ละเอียดกว่าการใช้ปั๊มไฟฟ้า เพราะปั๊มไฟฟ้าจะถูก set มาจากโรงงาน ด้วยความเร็ว x ระดับ ความแรง x ระดับ แล้วแต่ spec ของแต่ละบริษัทในขณะที่ปั๊มมือ เราสามารถควบคุมความเร็วและความแรงได้เองตามความต้องการ จะโยกให้เร็ว หรือแรงแค่ไหนก็ได้ การที่เราควบคุมได้เองนี้ ช่วยลดโอกาสที่จะบาดเจ็บจากปั๊มมือได้มากกว่าการใช้ปั๊มไฟฟ้า ข้อแตกต่างอีกอย่างก็คือ ปั๊มมือจะปั๊มได้ทีละข้าง ส่วนปั๊มไฟฟ้านั้น มีให้เลือกทั้งแบบปั๊มเดี่ยว หรือปั๊มคู่ก็ได้

 

ปั๊มมือกับปั๊มไฟฟ้าแบบไหนดีกว่ากัน

 

ขึ้นกับวัตถุประสงค์ และสถานการณ์ของการใช้งานค่ะ สำหรับคุณแม่ Full-Time ที่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน คลอดแล้วน้องแข็งแรงดี เข้าเต้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าน้องได้รับนมหรือเปล่า ต้องการปั๊มเพื่อระบายน้ำนมที่คัดเต้าเป็นบางครั้ง หรือเก็บไว้เป็นสต๊อกบ้างหากต้องไปธุระ ปั๊มมือดีๆ สักอันก็เพียงพอแล้วค่ะ

 

แต่ถ้าคุณแม่ต้องไปทำงาน หรือคลอดก่อนกำหนด น้องต้องอยู่ NICU หรือมีปัญหาในการเข้าเต้า ปั๊มไฟฟ้าแบบปั๊มคู่จะเหมาะสมกว่า เพราะในช่วงที่ลูกเข้าเต้าไม่ได้ คุณแม่ต้องปั๊มนมอย่างน้อยวันละ 8 ครั้งเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมอย่างต่อเนื่องแทนการดูดของลูก สำหรับคุณแม่ที่ต้องไปทำงาน ก็ต้องปั๊มอย่างน้อย 3-4 ครั้งที่ทำงานในช่วงที่ต้องแยกจากลูก ซึ่งปั๊มไฟฟ้าจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมและประหยัดเวลาได้มากกว่าปั๊มมือ

 

ปั๊มมือกับปั๊มไฟฟ้า แบบไหนเคลียร์เต้า ได้ดีกว่ากัน

 

จะว่าไปคำถามนี้ก็ไม่ต่างกับการถามว่า Family Mart หรือ 7-11 ร้านไหนสะดวกกว่ากัน ซึ่งก็หมายความว่าเราจะไม่มีทางได้รับคำตอบที่เป็นเอกฉันท์ทั้งสองคำถาม เพราะบางคนอาจจะรู้สึกว่าเคลียร์ด้วยปั๊มมือได้ดีกว่า ในขณะที่บางคนอาจจะใช้ปั๊มมือปั๊มไม่ออกเลยก็ได้

 

รวมทั้งคุณแม่หลายท่านอาจจะมีความเข้าใจที่ต่างกันสำหรับคำว่าเคลียร์เต้าอีกด้วย บางคนอาจจะหมายถึงการที่มีก้อนค้างหลังจากปั๊มนมออกไปบ้างแล้วบางคนอาจจะตกรอบบ่อยจนเต้าตัน บางคนอาจจะหมายถึงการปั๊มนมไม่ออกเลยเพราะปัญหานมน้อย บางคนอาจจะปั๊มนมจนเต้าโล่งไปแล้ว แต่บีบมือแล้วยังมีนมไหล และยังอยากเคลียร์ให้เกลี้ยงจนไม่เหลือก็ได้ ถ้าความเข้าใจของคำถามไม่ชัดเจน คำตอบที่ได้ก็อาจจะผิดก็ได้ แนะนำให้คุณแม่ปรึกษาโค้ชนมแม่จะดีกว่าค่ะ

 

มีปั๊มไฟฟ้าแล้ว ยังต้องซื้อปั๊มมือไหม

 

สำหรับคุณแม่ปั๊มล้วน การมีปั๊มมือ ก็เปรียบเหมือนซื้อประกันอุบัติเหตุยามมีเหตุไม่คาดฝัน เพราะเครื่องปั๊มนมก็เหมือนกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่จู่ๆ ก็อาจจะขัดข้องเสียหายใช้งานไม่ได้กะทันหัน แม้จะยังอยู่ในประกัน แต่การส่งซ่อมก็ต้องใช้เวลา หรือบางครั้งอาจจะไม่ได้เกิดจากเครื่องเสีย แต่อาจจะไฟดับ หรือแม้กระทั่งลืมอุปกรณ์สำคัญอย่าง adapter ก็ตาม หากมีปั๊มมือสำรอง ก็จะช่วยชีวิตคุณแม่ได้ยามฉุกเฉิน รวมทั้งเป็นตัวเลือกที่พกพาสะดวกเวลาที่ออกไปข้างนอกเป็นครั้งคราวด้วยเช่นกัน

 

ส่วนคุณแม่ที่ลูกเข้าเต้าด้วย ปัญหาอาจจะน้อยกว่า จะซื้อปั๊มมือไว้สำรองหรือไม่ สามารถพิจารณาเอาจากความจำเป็นที่อาจจะเกิดขึ้นกับบริบทของครอบครัวได้ค่ะ

 

ปั๊มมือกับบีบมือเหมือนกันไหม

 

สิ่งที่เหมือนกันคือใช้มือค่ะ นอกนั้นคือแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การบีบมือคือการใช้แรงกดด้วยมือเพื่อให้นมออกมาจากเต้านม แต่การใช้ปั๊มมือเป็นการใช้อุปกรณ์สร้างแรงดูดสูญญากาศเพื่อดูดน้ำนมออกจากเต้านม เปรียบเทียบกับการดูดเต้าของทารกเพื่อให้เห็นภาพก็คือ ริมฝีปากของทารกและลิ้นที่ไล้อยู่ใต้เต้านมทำหน้าที่เป็นแรงกดภายนอก เมื่อทารกออกแรงดูดคือการสร้างสุญญากาศเพื่อดึงน้ำนมออกจากเต้า

 

การใช้มือบีบเป็น skin to skin contact เปรียบเหมือนปากลูกสัมผัสเต้าแม่ ถ้าบีบอย่างถูกวิธี ไม่เจ็บ ไม่เค้น ไม่ทำให้ถลอกหรือช้ำ แม่มีความสุขในขณะบีบ จะช่วยโปรโมทฮอร์โมนออกซิโทซินได้เหมือนลูกดูด แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือแรงดูดสุญญากาศ

 

การใช้ปั๊มมือจะช่วยสร้างแรงดูดสูญญากาศได้เหมือนปากลูก แต่ที่ขาดหายไปคือ skin to skin contact ดังนั้นจึงควรทำร่วมกันทั้งการปั๊มนม นวดเต้า และบีบมือ

 

ใช้ปั๊มไฟฟ้าแล้วไม่เกลี้ยง บีบมือนมยังพุ่งอยุ่เลย ถ้าใช้ปั๊มมือจะเกลี้ยงไหม

 

ขึ้นอยู่กับคุณแม่เข้าใจคำว่าเกลี้ยงเต้าอย่างไร ถ้าก่อนปั๊มเต้าหนัก ปั๊มเสร็จเต้าเบาแล้ว โดยที่ระหว่างปั๊มรู้สึกจี๊ด (กลไกการหลั่งน้ำนมทำงาน) 2-3 ครั้ง จนนมหยุดไหลแล้ว แต่บีบมือแล้วยังพุ่งอยู่ แล้วก็พุ่งน้อยลงๆ จนหยดๆ แต่ไม่หมดสนิท แบบนี้เรียกว่าเกลี้ยงแล้วค่ะ แต่ที่บีบแล้วยังพุ่งหรือยังมีออกมาเรื่อยๆ ก็เพราะเต้านมเราผลิตน้ำนมตลอดเวลา เหมือนตาน้ำที่ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ตักเท่าไรก็จะไม่แห้งค่ะ ถ้าเป็นกรณีนี้ เปลี่ยนเป็นปั๊มมือก็จะไม่ได้เกลี้ยงจนแห้งเช่นกัน

 

แต่ถ้าก่อนปั๊มเต้าหนัก ปั๊มไป 20-30 นาทีแล้ว เต้าก็ยังหนักเหมือนเดิม ไม่รู้สึกจี๊ด (กลไกการหลั่งน้ำนมไม่ทำงาน) บีบมือแล้วนมพุ่ง บีบเท่าไหร่ก็พุ่งไม่หยุด แสดงว่านมยังไม่เกลี้ยงเต้าจริงๆ ปัญหาของคุณแม่เป็นที่กลไกการหลั่งน้ำนม ซึ่งอาจเกิดจากเครื่องปั๊มที่ใช้ไม่เหมาะสม หรือเกิดจากความเครียดความกังวล ทำให้ไปยับยั้งฮอร์โมนออกซิโทซิน หากเป็นเพราะสาเหตุนี้ การเปลี่ยนเป็นปั๊มมือก็อาจจะไม่ช่วยแก้ปัญหาเช่นกัน แนะนำให้คุณแม่ปรึกษาโค้ชนมแม่เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงก่อน จะดีกว่าค่ะ

 

ใช้ปั๊มมือจะเกลี้ยงเต้าไวเหมือนปั๊มไฟฟ้าไหม

 

ถ้าคุณแม่ใช้ปั๊มไฟฟ้าอยู่แล้ว และเกลี้ยงเต้าไวดี ไม่มีปัญหากับกลไกการหลั่งน้ำนม ถ้าใช้ปั๊มมือแล้วไม่เมื่อย จี๊ดไวเหมือนใช้ปั๊มไฟฟ้า ระยะเวลาในการปั๊มของคุณแม่ก็อาจจะไม่ต่างกัน แต่จะเสียเวลามากกว่าก็เพราะปั๊มมือต้องทำทีละข้าง

 

แต่ถ้าคุณแม่มีปัญหาจี๊ดยาก ปั๊มไฟฟ้าก็นานกว่าจะเกลี้ยงเต้า การใช้ปั๊มมืออาจจะไม่ช่วยให้เกลี้ยงไวอย่างที่คิด แต่ถ้าไม่เคยมีปั๊มมืออยู่แล้ว จะซื้อไปลองก็ได้ค่ะ เพราะปั๊มมือราคาไม่แพง แล้วก็ใช้เป็นปั๊มสำรองได้ด้วย

Visitors: 96,598